นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายธุรกิจปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุน และบางธุรกิจลดจำนวนแรงงานลง ทำให้การกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อหาช่องทางสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งธุรกิจการเกษตร เป็นทางเลือกลำดับต้นๆที่แรงงานมักเลือกนำไปประกอบเป็นอาชีพ ประกอบกับรัฐบาลมีนโนบายผลักดันให้การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน รวมทั้งนโยบายด้านการเกษตร โดยเร่งส่งเสริมการจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคล และพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายทศพล กล่าวต่อว่า จากนโยบายดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้รับอานิสงส์ด้วย จากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจจากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเกษตรมีอัตราเติบโตสูงสุดและเป็นธุรกิจดาวเด่น ในไตรมาสแรกปี 2564 โดย 5 อันดับแรกที่มีอัตราเติบโตสูงสุด ได้แก่ 1. ธุรกิจให้เช่าและการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรและการป่าไม้ เช่น บริการให้เช่ารถแทรกเตอร์ รถแม็คโคร เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 70 ราย เพิ่มขึ้นถึง 69 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 2. ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 499 ราย เพิ่มขึ้น 54 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ธุรกิจสนับสนุนการผลิตพืชผลซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เช่น การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การให้ปุ๋ย การดูแลรักษาที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเพื่อการใช้งานทางการเกษตร) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 367 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 32 เท่า 4. ธุรกิจปลูกมันสำปะหลัง มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 33 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 32 เท่า และ 5.ธุรกิจควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูพืช มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 119 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23 เท่า
นายทศพล กล่าวว่า จากโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดกลางถึงเล็ก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้ จึงเกิดเป็นเทรนด์บริการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตร เช่น ระบบจองโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร เพื่อให้สามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง และ การขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้แนวนโยบายตลาดนำการผลิต ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ วางแผนการผลิต จัดการผลผลิต ตรวจสอบย้อนกลับ และนำไปสู่การสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร
ที่มา : มติชน วันที่ 14 พ.ค. 2564