เงินฝากท่วมแบงก์ ธ.ก.ส. 1.7 ล้านล้านบาท เกษตรกรรัดเข็มขัดกังวลใช้จ่าย แถมกู้น้อยลงช่วง “โควิด-19” ส่งผลแบงก์เกษตรต้องลดเป้าเติบโตสินเชื่อ 2 ปีซ้อน เหลือปีละ 7 หมื่นล้านบาท จากเดิมปล่อยสินเชื่อใหม่ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เผย 30 ม.ค.นี้ชงบอร์ดไฟเขียวแผนดำเนินงานปีบัญชี’64
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารนัดพิเศษ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค. 2565) หลังจากปีบัญชี 2563 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2564 นี้ ธนาคารมีแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 105,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงเหลือประมาณ 70,000 ล้านบาทแล้วเช่นกัน
“ในบอร์ดนัดพิเศษจะพิจารณาเป้าปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 ที่ตั้งไว้ที่ 70,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีบัญชี 2563 ที่ปรับลดเป้าลงมา ซึ่งในปีบัญชี 2564 ธนาคารจะมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรน เพิ่มความช่วยเหลือข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงจะเน้นปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนให้กรณีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้วย” นายสมเกียรติกล่าว
โดยสาเหตุที่ปรับลดเป้าสินเชื่อตั้งแต่ปีบัญชี 2563 ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่ออกมา ซึ่งเดิมประเมินว่าจะได้รับการตอบรับค่อนข้างมากจากเกษตรกรลูกค้า แต่เมื่อลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรจึงกังวลใจ ไม่กู้เงินเพิ่ม ทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้แค่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สินเชื่อระยะสั้น ฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ jump start credit วงเงิน 100,000 ล้านบาท ก็สะดุดเพราะโควิด-19 และอยู่ในช่วงการพักชำระหนี้อยู่
“ปกติเกษตรกรจะขอสินเชื่อหลังจากชำระหนี้ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ไปแล้ว เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนฤดูกาลผลิตใหม่ ซึ่งปีนี้ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์การเข้าขอสินเชื่อ jump start จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยแนวโน้มการชำระหนี้ ธนาคารก็มีโครงการจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาชำระหนี้ ผ่านโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งลูกค้าที่ชำระหนี้ดีจะรับเงินคืน 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ยกเว้นสหกรณ์นอกภาคเกษตรและองค์กร) จะได้รับเงินคืน 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้เกษตรกรพยายามดูแลฐานะการเงินของตัวเอง โดยหากไม่จำเป็นก็พยายามจะไม่กู้เพิ่ม จึงทำให้ปีบัญชี 2563 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้น้อยลง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องค่าเก็บเกี่ยว และเงินประกันรายได้จากภาครัฐ ส่งผลให้การออมของเกษตรกรดีขึ้น
“ตอนนี้เราพบว่าเกษตรกรลูกค้าไม่ถอนเงินออกจากบัญชีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา โดยเห็นสัญญาณเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงต้นปี 2564 ธนาคารมีเงินฝากรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท กล่าวคือพอร์ตสินเชื่อไม่ได้โต แต่พอร์ตเงินฝากขยับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวรวม 10 งวด เป็นวงเงินกว่า 48,000 ล้านบาท และค่าเก็บเกี่ยวไม่เกิน 20 ไร่ ไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ก็จ่ายไปอีก 20,000 ล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปเป็นสภาพคล่องของเกษตรกร แต่พอมีโควิด เกษตรกรก็ระมัดระวังเก็บสภาพคล่องไว้ ไม่นำไปใช้” นายสมเกียรติกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ก.พ. 2564
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.