รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีคณะกรรมการอีก 35 คนได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ 19 คน รวมทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากภาคเอกชน เช่นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกนั้นตนมองว่าเป้าหมายที่สำคัญ 2 เป้าหมายแรกที่ต้องผลักดันให้บรรลุผลก็คือ การแก้ปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหาความหิวโหย ซึ่งจะต้องทำสองตัวนี้ให้สำเร็จก่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายอื่น ๆ
ทั้งนี้ ตนในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะผลักดันในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนก่อน โดยต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่สุดของประเทศ และอยู่ในระดับฐานรากของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้่อของภาคเกษตรถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเนื่องจากมีแรงงานจากภาคท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 เข้ามาทำงานในภาคเกษตร โดยหากสามารถทำให้คนในส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นการจับจายใช้สอยในระดับเศรษฐกิจฐานรากก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักเนื่องจากคนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
นายอนุชา กล่าวว่า แนวทางก็คือการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพดในราคาที่สูงกว่าตลาดโดยปริมาณในการแทรกแซงผลผลิตไม่เกินสัดส่วน 30% ของผลผลิตในภาพรวมซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเป็นการชี้นำราคาของภาครัฐซึ่งทำได้เนื่องจากภาครัฐช่วยนำผลผลิตออกจากตลาดบางส่วนและทำให้ผลผลิตพืชเกษตรมีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการราคาสินค้าเกษตรจึงเพิ่มขึ้น
นอกจากโครงการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยังมีสิ่งที่จะทำไปควบคู่กันก็คือเรื่องของการพักชำระหนี้เกษตรกรชั่วคราว และการจัดการกับหนี้นอกระบบอย่างเด็ดขาดเพื่อให้รายได้ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มเติม เกษตรกรสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในช่วงนี้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องภาระหนี้สินที่กดดันการใช้จ่ายในช่วงเวลานี้
“กำลังซื้อของเกษตรกร และคนในฐานล่างตอนนี้ยังไม่ฟื้นวิธีการก็คือทำยังไงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมตั้งใจจะทำโครงการ “เงินจากดิน” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร หากสามารถผลักดันแนวทางนี้ก็จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้"
ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้นภาครัฐก็สามารถที่จะเก็บภาษีจากการใช้จ่าย โดยนโยบายลักษณะนี้สามารถให้ท้องถิ่นเป็นคนทำก็ได้ไม่ต้องให้รัฐบาลทำซึ่งจะสามารถเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารงานและงดข้อครหาว่ารัฐบาลจะทุจริตในโครงการได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการดูแลรายได้ของเกษตรกรผ่านมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการหลายชนิด ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้ ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินรวม 51,858 ล้านบาท 2.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 1,800 ล้านบาท 3.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราปี 2564 วงเงิน 10,042 ล้านบาท 4.ประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และ5.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังวงเงิน 9,780 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ สศช.ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้จะชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 83.3% ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทําจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.