8 พ.ย. 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” กลุ่มตัวอย่าง 1,374 คน สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2563 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลให้ความสุขของประชาชนลดลง ร้อยละ 62.66 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุข คือ มีรายได้เพียงพอ ร้อยละ 79.85 วิธีสร้างความสุข คือ ต้องลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย ร้อยละ 70.80 มาตรการรัฐที่ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น คือ ลดค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 63.81
ความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด หากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากประชาชนยังต้องลดและควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพชีวิตของรัฐบาลนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ
ด้านดร.ศิริ ชะระอ่ำ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดความสุขของคนในประเทศ (Gross Happiness Index) นั้น ครอบคลุมหลากหลายมิติทั้งคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง แต่เมื่อมาพิจารณาเทียบเคียงกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลล่าสุดนี้ กลับเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น มิใช่สิ่งที่ซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศแต่อย่างใด นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังระบุชัดว่า มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนแบบตรงไปตรงมา เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การพักชำระหนี้เงินกู้ประเภทต่างๆ ส่งผลบวกต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก
จึงสามารถสรุปได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน มาตรการภาครัฐระยะสั้นที่สร้างการรับรู้ถึงความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Projects) ได้อย่างน่าสนใจ
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 8 พ.ย. 2563