นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ในฐานะนายทะเบียน ได้ดำเนินการรวบรวม และตรวจสอบความซ้ำซ้อนเกษตรกรจากหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนจำนวน 7 หน่วยงาน เพื่อจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่พฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 รวมรายละ 15,000 บาท
โดยต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม และ 22 กันยายน 2563 ให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่เอกสารทางบัญชีไม่สมบูรณ์ออกไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้เกษตรกรได้รับสิทธิครบถ้วน
“จากข้อจำกัดทั้งด้านระยะเวลาและขั้นตอนการตรวจสอบ จึงทำให้เกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้รับการจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะได้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ต่อไป โดยหลังจากนี้ สศก. ในฐานะนายทะเบียนและเป็นหน่วยงานเนวิเกเตอร์ด้านเศรษฐกิจการเกษตร จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งพัฒนา ปรับรูปแบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลโดยใช้ Big Data และ AI สำหรับประมวล และวิเคราะห์ให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันต่อการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหากับภาคเกษตรและเกษตรกรต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว
ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และเป็นโครงการลักษณะจ่ายตรง (Direct Payment) ซึ่งเป็นครั้งแรกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สศก. ในฐานะนายทะเบียนเกษตรกรและเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการฯ จะได้พิจารณาแนวทางการพัฒนารูปแบบการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือแนวทางการจัดทำมาตรฐานข้อมูล (Data Standard) เพื่อรองรับการพัฒนา Big Data ภาคการเกษตรที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ข้อมูลเป็นฐานในการวิเคราะห์เพื่อเป็นแผนที่นำทาง (Navigator) ตามนโยบายของเลขาธิการ สศก. เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรในอนาคต
ทั้งนี้ จากการติดตามของ สศก. พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นำเงินที่ได้รับไปลงทุนทางการเกษตร (ซื้อพันธุ์ อาหารสัตว์ ปุ๋ย และซ่อมแซมโรงเรือน) นำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งนำไปลงทุนนอกภาคการเกษตร โดยนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ (ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) ตลอดจนนำไปใช้จ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรตามโครงการฯ แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ทำเป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการอื่นๆ ซึ่งมีกิจกรรมทั้งการจ้างงานและการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และวางฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะกลางต่อไปอีกด้วย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของโครงการฯ สมัครเข้าร่วมโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
ขณะนี้ ระยะเวลาการดำเนินโครงการได้สิ้นสุดแล้วตั้งแต่ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยสรุปผลการช่วยเหลือเกษตรกร ตามโครงการฯ พบว่า ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรรวม 7,565,880 ราย เป็นเงิน 113,304.4 ล้านบาท (ข้อมูล ธ.ก.ส. ณ 7 ต.ค. 63) แต่อย่างไรก็ตาม ในการขยายการดำเนินการจ่ายเงินในช่วงที่สองจนถึงเดือนกันยายน 2563 พบว่า ยังมีเกษตรกรบางส่วน ที่ยังไม่ได้รับโอนเงินทันภายใน 30 กันยายน 2563 เนื่องจากระยะเวลาที่การดำเนินการค่อนข้างจำกัด และจำเป็นต้องใช้เวลาตรวจสอบก่อนการโอนเงิน
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 ต.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.