ศึกข้าวพื้นนุ่ม-หอมมะลิร้อน “โรงสีอีสาน” อัดเละร่างมาตรฐานข้าวใหม่ หวั่นแยกหน้าตาทางกายภาพไม่ออกลามปลอมปนหอมมะลิ จี้รัฐจัดโซนนิ่งก่อนทุบราคานาปี’64 ล่าสุดสัญญาณราคาดิ่ง 2 เดือน ข้าวเปลือกวูบ 5 พันบาท
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มโรงสีอีสาน 160 โรง ขอแยกออกจากสมาคมโรงสีข้าวไทยมาตั้งสมาคมใหม่ในนามสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ฐานการผลิตข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
แม้ว่าทั้งสองกลุ่มปฏิเสธว่าไม่ได้มีความขัดแย้งในการทำงานและการตั้งสมาคมรายภาคหรือชมรมโรงสีรายจังหวัดถือเป็นเรื่อง “ปกติ” แต่แท้จริงแล้วประเด็นแฝงที่ทำให้ 2 กลุ่มต้องแยกวง คือ ความไม่ลงรอยกันในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวชนิดใหม่ ที่เรียกว่า “ข้าวขาวพื้นนุ่ม” เพื่อมาเป็นเป็นไฟติ้งโปรดักต์ให้ประเทศไทยนำไปแข่งขันส่งออกในตลาดโลก
โดยรัฐมีโจทย์ คือ ต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีความนุ่ม และราคาต่ำระดับแข่งสู้เวียดนามได้ ประเด็นนี้ทำให้โรงสีหลายโรงมองว่า หากการจัดทำมาตรฐานไม่รอบคอบรัดกุมแยกชนิดข้าวไม่ได้ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ข้าวขาวพื้นนุ่มที่มีราคาต่ำไหลมาปลอมปนเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีราคาต่างกัน 3 เท่าในการประชุมใหญ่สามัญปี 2563 ของสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการแสดงความเห็นในประเด็นนี้ค่อนข้างร้อนแรง
แหล่งข่าวจากอนุกรรมการยกร่างมาตรฐาข้าวขาวพื้นนุ่มกล่าวว่า กระบวนการยกร่างข้าวขาวพื้นนุ่มโดยคณะอนุกรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าว และบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว ได้มีการยกร่างเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะยังติดเรื่องการกำหนดเกณฑ์การตรวจสอบข้าวขาวพื้นนุ่ม
ซึ่งโดยปกติมี 2 เรื่อง ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติภายใน เช่น ค่าความเป็นแป้งในข้าวซึ่งวัดได้จากค่าอะมิโลส และค่าความบริสุทธิ์ (เพียวริตี้) ซึ่งลักษณะทางกายภาพข้าวขาวพื้นนุ่มแยกไม่ออกจากข้าวปทุมธานีและมะลิ จำเป็นต้องนำไปตรวจสอบค่าอะมิโลสและค่าความบริสุทธิ์ ก็ถือว่าห่างแบบ “เฉียดฉิว”
วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุด คือ ตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจึงจะแยกได้ชัดกว่าการต้มและบดกระจก ซึ่งในตอนนี้มีห้องปฏิบัติการแห่งเดียว และต้องใช้เวลาตรวจสอบนาน มีค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้ว่าจะมีดีมานด์ตลาดฟิลิปปินส์รองรับแต่ขนาดตลาดยังน้อยจะคุ้มค่าในการปลูกของชาวนาหรือไม่ยังเป็นคำถามอยู่ ซึ่งในองค์คณะก็ต้องยึดหลักการ หากจะกำหนดมาตรฐานต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อป้องกันการปลอมปนกับข้าวคุณภาพดีที่ไทยมีมาตรฐานแต่เดิม อันดับ 1 คือ ข้าวหอมมะลิ และอันดับ 2 ข้าวหอมไทย (ข้าวปทุมธานี)
สำหรับข้าวขาวพื้นนุ่มจะมี 4 สายพันธุ์ คือ กข.43 ซึ่งเคยทำตลาดไปแล้วเล็กน้อย ข้าว กข.77 และ กข.79 ที่อยู่ระหว่างการทดลองผลผลิตขั้นสุดท้าย คาดว่าจะทดลองออกสู่ตลาดในปลายปีนี้ และข้าว กข.87 ที่อยู่ระหว่างการรับรองพันธุ์โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า จากนี้จะรวบรวมความเห็นของสมาชิกและเตรียมจะขอเข้าพบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานข้าวในเดือนตุลาคมนี้ โดยสมาชิกส่วนหนึ่งมองว่าไทยควรรักษาเอกลักษณ์ข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีที่ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้เป็นข้าวพรีเมี่ยมที่มีระดับราคาส่งออกสูง เพราะที่ผ่านมาผู้ซื้อยอมรับราคาระดับนี้ได้
นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า แม้ว่าข้าวหอมมะลิจะมีราคาสูงถึง 1,200 เหรียญสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่เห็นได้ชัดเจนว่าตัวเลขการส่งออกนั้นไม่ลดลง แต่หากจำเป็นต้องปลูกข้าวขาวพื้นนุ่ม รัฐจำเป็นต้องวางมาตรการป้องกันปัญหาการปลอมปน เพราะแน่นอนว่าของราคาต่ำก็จะไหลไปเป็นของราคาสูง
“เท่าที่ทราบข้าวขาวพื้นนุ่มลอตแรกจะออกสู่ตลาดปลายปีนี้ช่วงเดียวกับผลผลิตนาปี 2563/2564 ซึ่งสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวลดลงผิดปกติ โดยข้าวเปลือกราคาตันละ 13,000 บาท ราคาข้าวอ่อนตัวลดลงตันละ 5,000 บาทจากเมื่อช่วง 2-3 เดือนก่อนที่เคยมีราคาตันละ 17,000-18,000 บาท ทั้งที่ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดู ซึ่งเราได้ตรวจสอบไปว่าเป็นเพราะโรงสีมีสต๊อกเยอะหรือไม่เลยทำให้ราคาข้าวลดลง แต่พบว่าปริมาณสต๊อกข้าวของโรงสีมีเพียง 2.5 แสนตันเท่านั้น ลดลงจากปกติที่ช่วงนี้ต้องมีมากกว่า 5 แสนตัน ซึ่งเมื่อราคาลดลงโรงสีต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กดราคารับซื้อแน่นอน แต่เราไม่ได้เป็นคนทำ ต้องไปชี้แจงเรื่องนี้”
“5 สมาคมที่เกี่ยวข้อง คือ โรงสี เมล็ดพันธุ์ ชาวนา ต้องมาคุยกันให้ตกผลึกว่าจะไปทางไหน ราคาตอนนี้ลดลงไม่มีเหตุผล อีกทั้งบายโปรดักต์พวกยี่จ้อ-ซาห่อจากข้าวหอมมะลิยังขายไม่ได้ ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลเพราะสถานการณ์ซัพพลายยังไม่ออก สต๊อกไม่มาก ราคาต้องพุ่งกว่านี้ แต่เราโชคร้ายมาเจอโควิดซ้ำเติมอีกทำให้ต่างชาติที่เดินทางมากินข้าวเราหายไป 20 ล้านคน กิน 1 ล้านกระสอบหายไป ซึ่งหากผลผลิตนาปี 2563/2564 ออกปลายปีกังวลว่ามันจะลงหนักกว่านี้อีก”
นายสมศักดิ์ ตังพิทักษ์กุล ประธานชมรมโรงสี จ.ขอนแก่นกล่าวว่า ทุกคนกังวลปัญหาการคุกคามของข้าวขาวพื้นนุ่ม สมาคมใหญ่อาจจะเสียงไม่ดังพอ ซึ่งเราต้องบอกว่าไม่ได้คัดค้านข้าวนั้นแต่รัฐบาลต้องชัดเจน ปัจจุบันเรามีมาตรฐานข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย และข้าวขาว ถ้ามีมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่มมาแทรกแต่ไม่ได้มีความชัดเจนจะมั่วกันไปหมด เพราะราคาต่างกัน ข้าวหอมไทย 102-125 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมมะลิ 250 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ซื้อโดยเฉพาะในต่างประเทศซื้อไปชิมแล้วเข้าใจผิดมองว่าเป็นข้าวหอมมะลิของไทย ส่วนหนึ่งอาจจะคุ้นเคยแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้น ต้องมีคำแบ่งที่ชัดเจน เช่น ตอนนี้ข้าวหอมไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า “จัสมิน” ต้องเลิกใช้เลย เพราะหากดูตามคำแปลแล้วจะทำให้เข้าใจผิดหรือพันธุ์ข้าวอะไรที่คล้าย
แหล่งข่าวโรงสีอีกรายให้ความเห็นว่า ตอนนี้ข้าวพันธุ์ กข.79 มันทับซ้อนกับข้าวหอมมะลิ แยกไม่ออก ดูกายภาพคล้ายกันมาก ถ้าราคาดีมีปลอมปนแน่ ข้าวเปลือกเจ้าจากขาวพื้นนุ่ม ตันละ 8,200-8,300 บาท ข้าวหอมมะลิ ตันละ 13,000 บาท
ขณะที่ตัวแทนโรงสีจาก จ.สุรินทร์ให้ความเห็นว่า ข้าวพื้นนุ่มเป็นปัญหากับเรา แต่รัฐก็ต้องการข้าวไปส่งออก พยายามส่งเสริมเพราะมีตลาดฟิลิปปินส์รองรับ ข้าวขาวพื้นนุ่มราคาถูก หากสนับสนุนจะทำให้ไทยมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมากขึ้น ฉะนั้น เราต้องแบ่งโซนเช่นว่า อีสานทำข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยม ไม่ทิ้งเอกลักษณ์เรา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.