เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการจัดตั้งอย่างยั่งยืน :
เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน-เครือข่ายแรงงานภูมิภาค
ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ความมั่นคงทางอาหารและปัญหาแรงงานนอกระบบกำลังเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติทั่วโลกที่เชื่อมโยงไปถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยและผู้ใช้แรงงานที่อยู่กันแบบกระจัดกระจายไม่มีการรวมกลุ่ม
ดังนั้นศูนย์ประสานงานแรงงานภูมิภาคเอเชีย (Asia Monitor Resource Centre ) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาจึงได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียขึ้น โดยครั้งนี้เป็นปีที่สอง ที่โรงแรมพาลาซโซ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในหัวข้อเรื่อง การเจรจาต่อรองแบบรวมหมู่ การทวงพื้นที่ทางการเมือง ผ่านกระบวนการจัดตั้งที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 4-6 ก.ค. 55 ในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วม 7 ประเทศ ได้แก่ พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งองค์กรจากประเทศไทยเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เข้าร่วม สาระสำคัญคือการมองปัญหาและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยน ทัศนะประสบการณ์ ปัญหาและทักษะการทำงานจัดตั้งที่ยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายหรือขบวนการขยายเครือข่ายข้ามประเด็นและภาคส่วน เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืน จากการนำประเด็นระดับชาติเชื่อมโยง บุกเบิก ปฏิบัติการ และรณรงค์ในระดับภูมิภาค ให้สอดคล้องกับความจริง และสามารถนำไปปฏิบัติได้
จากนั้นเมื่อวันที่ 8-9 ก.ค. 55 ตัวแทนจาก AMRC และตัวแทนจากองค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซียได้ลงพื้นที่ค้างคืนในชุมชนสันติพัฒนา อำเภอพระแสง และชุมชนไทรงามพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ สปก.ที่สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ทำการตรวจสอบยึดคืนมาจากกลุ่มนายทุน และจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยทำกิน และผลักดันกับภาครัฐจนเข้าสู่นโยบายโฉนดชุมชนนำร่อง
การลงพื้นที่ของคณะทำงานในครั้งนี้เพื่อเข้าไปศึกษาการปฏิบัติการยึดพื้นที่ และสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนปัญหาต่างๆที่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาครัฐ และจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ โดยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงวิธีการต่อสู้ว่าในอินโดนีเซียเขาสามารถดึงคนทุกกลุ่มทั้งผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคเกษตรกรรม ให้เป็นพันธมิตรต่อกันเพื่อสร้างอำนาจทางการต่อรองกับกลุ่มทุนซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติ และภาครัฐ และมีการสรุปงานร่วมกันว่าปัญหาแรงงานหรือกำลังการผลิตกับความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของทุกประเทศมีปัญหาที่เหมือนกันคือระหว่าง รัฐ - ทุน กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีแต่วิธีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับภูมิภาคเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
รายงานโดย...นักข่าวพลเมืองสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้