"เยียวยาเกษตรกร" ต่อเนื่อง รัฐเพิ่มเงินอีกเกือบ 3 แสนล้าน อุดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก "ธ.ก.ส." พร้อมช่วยวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสหกรณ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
นอกจากความคืบหน้าของ มาตรการเยียวยาเกษตรกร ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้าน สู่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย แบ่งเป็นงบสนับสนุนโดยตรงกว่า 50,000 ล้านบาท และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก ธ.ก.ส.อีก 2.6 แสนล้าน เพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังวิกฤติ โควิด-19 แก่เกษตรกร 300,000 ราย
พร้อมกันนั้น ยังเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านการตลาด และเทคโนโลยีกลับคืนสู่ชนบท 200,000 ราย พร้อมหนุนวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตร 16,000 ราย และสหกรณ์ สถาบันเกษตรกรอีก 7,255 แห่ง ร่วมเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก
อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงาน และต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้ และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม
"ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทอีกทางหนึ่ง"
โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย โดย ธ.ก.ส. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท นอกเหนือจากมาตรการเยียวยาเกษตรกร สามารถแยกออกเป็น โครงการหลักๆ ดังนี้
1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
- ขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว
- การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น
- การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ
- พัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
- การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท
3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท สำหรับ
- สนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
- รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ถือว่า เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มิ.ย. 2563