“สมัยยังเป็นเด็กน้อยช่วยพ่อแม่ทำนา ถึงเวลาใส่ปุ๋ยจึงต้องไปกู้เงิน หลังเกี่ยวข้าวมีเหลือกินแค่ปีชนปี เพราะต้องแบ่งไปใช้หนี้เงินกู้ เสียดอกแพง เงินต้น 2,000 บาท ต้องใช้คืน 3,000 บาท คิดหักจากข้าวเปลือกที่เจ้าหนี้เป็นคนกำหนดราคา หักกลบลบหนี้แล้ว ทำนา 16 ไร่ เหลือข้าวไว้กินแค่ 16 กระสอบ กับเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บไว้ปลูกอีก 2 กระสอบ”
นางรจนา สีวันทา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2563 เล่าต่อ...หลังมีครอบครัวจึงปรึกษากับสามี ถ้าหากยังทำนาเหมือนพ่อแม่ อนาคตไม่มีโอกาสส่งลูกเรียนแน่ๆ
ข้าวในแต่ละปีเริ่มได้น้อยลง ปูปลาในนาเริ่มหาย ถ้ายังทำนาแบบเดิมเมื่อไรจะลืมตาอ้าปากได้...ฉะนั้นต้องงดใส่ปุ๋ย แต่จะต้องทำอย่างไร นั่นคือปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข
จากการสังเกตลานนวดข้าวในนาที่ดอน จะใช้มูลควายผสมน้ำมาทาหน้าดินแล้วปล่อยให้แห้ง หลังนวดสีข้าวเสร็จแล้วปีถัดไป พื้นที่ตรงนั้นต้นข้าวขึ้นงาม... เพราะไม่มีความรู้ แต่อยากให้ต้นข้าวงามจึงหามูลควายมาใส่แปลงนาหวังช่วยลดปุ๋ย
แต่กลับมีหญ้าวัชพืชขึ้นมาแข่งกับข้าวในนา
ปี 2542 จ.สุรินทร์ รณรงค์ปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายา ตรงกับแนวความคิดของ รจนา ที่ต้องการคืนธรรมชาติสู่พื้นที่ แก้ปัญหาสภาพดินนาที่เสื่อมลง ทั้งที่ไม่ได้รับคัดเลือก ด้วยความอยากรู้จึงขอไปอบรมวิธีการทำนาอินทรีย์ ต้องไถกลบตอซัง เพิ่มพลังอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ชีวีจะปลอดภัย และได้ข้าวที่งอกงามผลผลิตดี
หลังกลับมาตั้งใจไว้ปีนี้จะไม่กู้เงินมาทำนาแน่ๆ...หลังเกี่ยวข้าวในแปลงนาหมด ไถปรับหน้าดินหว่านถั่วพร้าและโสนแอฟริกัน ขณะที่รอเข้าหน้าฝน ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินใช้มูลวัว 900 กก. รำข้าว 25 กก. แกลบ 80 กก. กากน้ำตาล 10 กก.คลุกให้เข้ากัน ใช้ผ้ายางปิดเพื่อให้จุลินทรีย์เดินและวัชพืชในมูลวัวตาย หมัก 30 วัน สามารถนำมาใส่บำรุงดินก่อนปลูกข้าว และช่วงต้นข้าวอายุได้ 20 วัน อัตราไร่ละ 200 กก. นา 16 ไร่ จากที่เคยได้ข้าว 126 กระสอบ ทำนาอินทรีย์ได้ข้าวแค่ 44 กระสอบป่าน ต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท...แม้จะได้ข้าวน้อยแต่เป็นของเราทั้งหมด ไม่ต้องหักหนี้ให้ใคร
เพื่อนบ้านจึงขอให้ตั้งกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์...ปีที่ 2 ได้ข้าว 77 กระสอบ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันได้ไร่ละ 600 กก. ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของ จ.สุรินทร์ อยู่ที่ไร่ละ 376 กก.
ไม่เพียงแค่นั้น ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มรจนายังมีออเดอร์จากตัวแทนบริษัทส่งออกสั่งซื้อไปขายเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และยุโรป อีกต่างหาก.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 27 พ.ค. 2563
ผู้เขียน : เพ็ญพิชญา เตียว