ตรวจสัญญาเช่าป่า ปลูกปาล์มภาคใต้
ปัญหาที่ดินดูจะเป็นเรื่องที่เขียนถึงกันได้ไม่มีวันจบจริงๆ เพราะคงอีกนานที่ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในเมืองไทย ความขัดแย้งกรณีที่ดินจึงเกิดขึ้น และมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา จนเกือบจะเป็นเรื่องความเคยชินของคนทั่วไป
ล่าสุดเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติกว่า 400 นาย ถูกชาวบ้านเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ล้อมไม่ให้ลง จากการเข้ารื้อถอนต้นยางพารา และต้นปาล์มน้ำมันกว่า 250 ไร่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ต.พิปูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช
ชาวบ้านที่รวมตัวกันต่างชูป้ายข้อความ เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขเจรจาขอปลูกพืช และทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อ แม้กรมอุทยานฯ จะยืนยันว่าได้ผ่อนปรนมานานมาก หลังพื้นที่ดังกล่าวได้มีการตรวจยึดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และศาลมีคำสั่งในคดีสิ้นสุดแล้วสั่งให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่แล้ว แต่มีการผ่อนผันมายาวนาน
ความขัดแย้งในเรื่องการจัดการที่ดินในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกปาล์มและยางพารา เริ่มมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ที่นครศรีธรรมราช หากยังรวมพื้นที่กระบี่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเข้าไปยึดครองพื้นที่ซึ่งหมดอายุสัมปทานหรือหมดสัญญาเช่าจากรัฐ เพื่อเรียกร้องให้กระจายที่ดินดังกล่าวให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ถือครองที่ดินได้บ้าง
จากข้อมูลสัญญาเช่าป่าในพื้นที่ภาคใต้พบว่าพื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มของทุนรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้กำลังจะสิ้นสุดลงอย่างน้อย 1.4 แสนไร่ นั่นหมายความว่า หากรัฐซึ่งหมายถึงกรมป่าไม้ ไม่มีแนวทางในการจัดการที่ดินที่หมดสัญญาเช่าอย่างเป็นธรรม ย่อมนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งและกลายเป็นปัญหาลุกลามได้
เพราะย้อนหลังไปหลายสิบปี ปัญหาพื้นที่พิพาทที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พบว่าในอดีต รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าไม้ในลักษณะให้เช่าที่ดินในราคาถูก มีพ่อค้าและทุนจากต่างชาติโดยความร่วมมือของนักการเมือง และข้าราชการในพื้นที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินในระยะยาวในพื้นที่รวมกันเป็นแสนไร่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและเป็นฐานการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศ
ทุนน้ำมันปาล์มเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่โดยการเช่าระยะยาวและในราคาถูกจำนวนมากกลับใช้ฉวยโอกาสทำประโยชน์มากกว่าที่ได้รับอนุญาต และบางรายไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับบุกรุกที่ดิน บางรายพยายามออกเอกสารสิทธิจากที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบทั้ง น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดิน เพื่อความมั่นคงของที่ดินในระยะยาว
ความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้น เมื่อสัญญาเช่าหมดลงในหลายพื้นที่และในปี 2546 ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นเกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐบาลมีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน ชาวบ้านที่ประสบปัญหาจึงรวมตัวเรียกร้องต่อรัฐบาลให้กระจายการถือครองที่ดิน และขอให้มีการตรวจสอบสัญญาเช่าหลักฐานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่
การตรวจสอบพื้นที่พบว่าพื้นที่ที่หมดอายุการเช่าแล้ว แต่ไม่ได้มีการต่อสัญญาและทุนยังทำประโยชน์อยู่ บางพื้นที่ทุนบุกรุกที่ดินรัฐมานานหลายสิบปี โดยรัฐไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่
ปัจจุบันชาวบ้านที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบสัญญาเช่าพื้นที่ป่าไม้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 10 คดี ขณะนายทุนจำนวนมากที่ปรากฏว่าหมดสัญญาเช่าไปแล้วกว่า 1.4 แสนไร่ และรัฐมีนโยบายชัดเจนว่าไม่ต่อสัญญาเช่า ยังคงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างไร้มลทิน ตรงข้ามกับชาวบ้านถูกไล่รื้อเพิกถอนโดยไม่เปิดโอกาสเจรจา
สิรินาฏ ศิริสุนทร
กรุงเทพธุรกิจ 9-07-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.