ปัญหาภัยแล้ง 2563 ยังคงคุกคามหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในบางแห่งแหล่งน้ำดิบมีสภาพแห้งขอด ไม่มีน้ำดิบในการผลิตประปา ทำให้ชาวบ้านต้องหยุดเพาะปลูกพืชเกษตรทุกชนิด ต่างได้รับความเดือดร้อน ทั้งปัญหาน้ำไม่พอ และขยายเป็นปัญหาหนี้สินด้วย
สาเหตุไม่มีน้ำเติมในแหล่งน้ำมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 และคาดการณ์ว่า...ต้องเผชิญกับภาวะแล้งยาวนานจนถึงเดือน พ.ค.2563 ทำให้เกษตรกร ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะ 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีการปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.9 ล้านไร่
ตามข้อมูลของกรมชลประทาน วันที่ 9 มี.ค.2563...อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การน้อย 30% ของความจุอ่าง 18 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารา แม่มอก จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ห้วยหลวง ลำพระเพลิง มูลบนลำแชะ ลำนางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และประแสร์
จากภัยแล้งนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ออกสำรวจคลองชลประทานหลายสาย ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะคลอง 8-คลอง 12 มีสภาพระดับน้ำราว 1-2 เมตร ส่วนคลอง 13 หรือคลองระพีพัฒน์แยกใต้ มีระดับน้ำประมาณ 1 เมตร ทำให้พื้นที่ทำนาขาดน้ำต้นทุน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาได้รับความทุกข์หนัก
อีกทั้งตลอดแนวริมคลอง 13 ชาวบ้านบางคนนำเครื่องสูบน้ำ มาติดตั้งลักลอบดึงน้ำเข้าไปในพื้นที่ตัวเอง หลังทาง จ.ปทุมธานีสั่งห้ามสูบน้ำ เพราะเป็นคลองสายหลักแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้กับพื้นที่ อ.ธัญบุรี คลองหลวง และหนองเสือ จ.ปทุมธานี ที่รับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี...
ก่อนหน้านี้...แม้กรมชลประทานจะส่งน้ำเข้าคลอง 13 ในการรักษาระดับน้ำไว้ แต่น้ำต้นทุนของน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็มีปริมาณน้อยเช่นกัน ทำให้คลองมีระดับน้ำต่ำเสี่ยงขาดแคลนน้ำเช่นกัน
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ร่วมกับส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 6 ได้กดเข็มไม้ปิดทำนบปากคลอง 8-12 พร้อมทั้งเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นการควบคุมน้ำให้ไหลไปคลอง 13 และบึงฝรั่ง เพื่อส่งน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง ใน จ.ฉะเชิงเทรา ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภค
สถานการณ์ภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก มีแนวโน้มความรุนแรงสาหัสมากนี้ วิชัย จูนนิท อายุ 35 ปี ชาวนา ม.4 ต.หนองสามวัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวมีอาชีพทำนาปรังในพื้นที่ 38 ไร่ เพราะทำนานี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ประกอบกับมีพื้นที่ทำนาอยู่แล้วก็ไม่อยากปล่อยทิ้งร้าง
หากหันไปเพาะปลูกพืชผลการเกษตรอย่างอื่น ก็ไม่มีความชำนาญ อีกทั้งยังขาดเงินทุน และความรู้ ที่จะไปลองผิดลองถูกใหม่ และพื้นที่ตรงนี้ก็ไม่เหมาะสม ทำให้ไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร จำเป็นต้องปลูกนาข้าวเท่านั้น เพื่อนำไปขายสร้างรายได้จุนเจือปากท้องครอบครัว ที่มีรายได้ดีกว่าการปลูกผัก ผลไม้ด้วยซ้ำ...
ในราคาเกวียนละ 6,000–8,000 บาท แต่ขึ้นอยู่กับความชื้นของข้าว หากข้าวมีความชื้นมากราคาก็ลดลงตามไปด้วย ล่าสุดนำข้าวไปขายเดือน ม.ค.2563 ราคาเกวียนละ 7,500 บาท
สำหรับ...“การทำนาปรัง” สามารถปลูกได้ตลอดปี ที่ต้องพึ่งพาน้ำคลอง 13 หากน้ำมากก็ทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เวลาเพาะปลูกราว 3-4 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ตามการเลือกปลูกพันธุ์ข้าว เช่น ปลูกข้าวพันธุ์ กข41 มีลักษณะข้าวเตี๊ย พวงอายุ 78 วัน และข้าวพันธุ์ 49 มีลักษณะข้าวสูง พวงอายุ 100 กว่าวัน
นับแต่ปี 2562 ชาวนาประสบภัยแล้งหนักมาก ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา กรมชลประทานสั่งห้ามปลูกข้าวนาปรัง เพราะต้องปล่อยน้ำเป็นเวลาให้ชาวบ้านเปิดเครื่องสูบน้ำ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ฝั่งซ้ายคลองสูบได้วันเสาร์ และฝั่งขวาคลองสูบวันอาทิตย์ ในช่วงนี้ทุกคนเร่งสูบน้ำพร้อมกันเพียง 3-4 ชั่วโมง น้ำในคลองแห้งลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเช่นนั้นก็เป็นเหตุผลสำคัญ...ไม่มีใครกล้าเสี่ยงปลูกข้าวกัน ด้วยมีโอกาสขาดทุนสูง หากหว่านข้าวแล้วก็ไม่มีหลักประกันว่าน้ำเพียงพอหรือไม่ เพราะการปลูกนาปรัง...ต้องทุนลงไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ทั้งซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จ้างไถนา หว่านข้าว และเก็บเกี่ยวข้าว...
“ตอนนี้ชาวนาเดือดร้อนไม่มีงานทำ เพราะปรับตัวไปรับจ้างก็ไม่มีคนจ้างงาน จนขาดรายได้ ในบางคนมีเงินเก็บยังพอนำมาใช้จ่ายค่าเทอมลูก ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายครัวเรือน แต่บางคนไม่มีเงินเก็บต้องหายืมเงินกู้นอกระบบเป็นหนี้สิน ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ก็คงหวังให้รัฐบาลมีวิธีแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรเท่านั้น” วิชัยว่า
สำหรับผู้ประสบภัยแล้งนี้ยังมี วงเดือน แสงหา อายุ 75 ปี ชาวนา ม.5 ต.หนองสามวัง อ.หนองเสือ ทำนาปรัง 30 ไร่ บอกว่า ในทุกปีคลอง 13 มักมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด ทำให้มีน้ำทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง เริ่มทำนาแรกในเดือน เม.ย. ใช้เวลา 4 เดือน จากนั้นก็พักหน้าดินราว 1 เดือน ก่อนทำนาปรังรอบที่ 2 ต่ออีก
ซึ่งพันธุ์ข้าวนำมาปลูก...“กข49” อายุเก็บเกี่ยว 102-107 วันที่เป็นข้าวเจ้าสายพันธุ์ผสมไม่ไวต่อช่วงแสง แต่หากเจอความร้อนมากไป มีผลให้ข้าวลีบ ติดเชื้อโรคง่าย ทำให้ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงมากกว่าข้าวนาปี เพื่อเลี้ยงให้ข้าวเติบโตได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 70-80 ถัง หากไม่ใส่ปุ๋ยบำรุงจะได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 60 ถัง ถือว่า “ขาดทุน”...
ตามเกษตรยุคใหม่...ต้องเข้าใจหลัก “น้ำดี ดินดี พันธุ์ดี ปฏิบัติดี” เพื่อผลผลิตดีสมบูรณ์ด้วย
แต่ในปีนี้ยอมรับว่า “ชาวนา” เผชิญกับ “วิกฤติภัยแล้ง” อย่างรุนแรง จนทำให้คลองระพีพัฒน์แยกใต้ลดน้อยลงอยู่ระดับต่ำไม่เพียงพอ เพื่อให้น้ำไหลเข้ามายังโรงผลิตประปาธัญบุรี ต้องขอความร่วมมือกับชาวบ้านหยุดสูบน้ำ และหยุดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ให้มีน้ำเพียงพอในการผลิตประปา
ทุกคนต้องพักการปลูกข้าวนาปรัง เพราะเขื่อนเก็บน้ำก็ไม่มีน้ำดิบปล่อยลงสู่คลองสาขา ทำให้ต้องรอฤดูฝนในการปลูกข้าวนาปี ที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชอื่นได้ ตามที่ “รัฐบาล”...พยายามส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือพืชอายุสั้น อาทิ แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง แตงโม ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว แฟง และถั่วฝักยาว
ประเด็นปลูกพืชใช้น้ำน้อยนี้...ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการนำพืชผักมาปลูกในแปลงนา ต้องปรับหน้าดิน ขุดทำเทือก ยกร่องเป็นแปลงมากมาย ที่มีต้นทุนการลงทุนสูง อีกทั้งการปลูกพืชผัก ต้องตื่นแต่เช้ามืด ในการดูแลบำรุงรักษาให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน การกำจัดโรค หรือแมลง การกำจัดวัชพืช และกำจัดศัตรูผักชนิดต่างๆ
ถ้าขาดการดูแลรักษาพืชผัก แม้ว่าปลูกพืชผักพันธุ์ดี มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พืชผักจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยิ่งผักมีตำหนิเพียงเล็กน้อย อาจทำให้ตลาดผู้บริโภคไม่ต้องการ กลายเป็นการปลูกพืชผักทดแทน กลับลงทุนใหม่สูง และเสี่ยงขาดทุนมากกว่าการปลูกข้าวนาปรังด้วยซ้ำ...
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...ทั้งอำเภอ จังหวัด ไม่เคยลงพื้นที่เข้ามาสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการเลือกปลูกพืชผัก ต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญพื้นที่นั้นต้องมี “น้ำ” เพราะไม่ว่าปลูกข้าว หรือพืชอายุสั้น พืชอายุยาว ต้องพึ่งพาน้ำทั้งสิ้น
แม้แต่ทุกวันนี้...ก็ยังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ไม่เคยสนใจปัญหาว่า...คลองหลักมีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงพืชผักได้หรือไม่ หากปลูกคงหนีไม่พ้นพืชผักยืนต้นตาย เพราะกรมชลประทาน ขอความร่วมมือประชาชนให้สูบน้ำเป็นเวลาจากคลอง 13 ได้เฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น
แต่ก็มีบางคนลักลอบสูบน้ำอยู่บ้าง เพราะต้องนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพืช นำมาปลูกแทนข้าวนาปรัง ตอนนี้ชาวนาได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ในบางคนต้องขายที่ดิน หรือกู้ยืนเงินนอกระบบ กลายเป็นความทุกข์มากมาย ในบางรายก็หันทำอาชีพเสริมชั่วคราว เช่น ก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป แต่รายได้ก็ชดเชยไม่ได้
ทำให้ฐานะการเงินของเกษตรกรย่ำแย่ลง ต้องใช้เงินเก็บจากการขายข้าวในฤดูกาลที่ผ่านมา หรือต้องรัดเข็มขัดลดรายจ่ายลง เพื่อประคับประคองการใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้
แม้เผชิญปัญหาภัยแล้งหนักหนา...ก็ดิ้นรนเก็บผัก หาปลา เพื่อเลี้ยงชีพต่อไป การจะให้เปลี่ยนอาชีพเคยทำกันแต่รุ่นพ่อแม่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคงขอยืนหยัดสู้สืบทอดทำนานี้จนนาทีสุดท้าย...
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 เม.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.