"ชาวเลราไวย์" ปรับตัวช่วงโควิด-19 หลังขายปลาไม่ได้ ทำขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้อข้าวสารกินในครัวเรือน ผุดไอเดีย "ปลาแลกข้าว" นำปลาที่หามาได้แปรรูปเป็นปลาตากแห้งส่งไปแลกข้าว กับเครือข่ายยโสธร-กลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ ตั้งเป้าส่งออก 3,000 กิโลกรัมในชุดแรก
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.63 นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต พร้อมด้วยนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ นายอำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังทราบข่าว พี่น้องชาวเลราไวย์ได้รวมกลุ่มกันแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาที่หามาได้เพื่อนำไปแลกกับข้าวสาร
ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการชัตดาวน์ ปิดทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตในทุกเส้นทางและรวมถึงการปิดรอยต่อตำบลทุกตำบลทั้ง 3 อำเภอ กลายเป็นข้อจำกัดทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาซื้อปลาในชุมชนได้ ซึ่งปกติแล้วทางชุมชนชาวเลจะนำปลาสดๆ ที่จับมาได้มาวางขายที่แผงปลาหน้าหมู่บ้าน แต่จากมาตรการปิดพื้นที่รอยต่อทุกตำบลทำให้แผงปลา และร้านอาหารต้องปิดบริการลงชั่วคราว ทำให้ขาดรายได้ที่จะนำไปซื้อข้าวสารกินในครัวเรือน ชาวเลราไวย์ จึงรวมตัวกันแปรรูปจากปลาสดเป็นปลาแห้งส่งไปแลกข้าวสารกับพี่น้องเครือข่ายทางภาคเหนือ และภาคอีสาน
อย่างไรก็ตามในการลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ของรองผู้ว่าฯ จังหวัดภูเก็ต และคณะได้มีการพูดคุยให้กำลังใจกับพี่น้องชาวเลและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมกับให้คำแนะนำในเรื่องของการทำแพ็กเกจ และการแปรรูปผลิตปลาที่ถูกสุขลักษณะ
ขณะที่ นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชาวเลราไวย์ กล่าวว่า หลังจากมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในแต่ละปี ทางเครือข่ายก็จะมีการถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ก็ได้บอกไปว่าเรามีปัญหาเรื่องปลาที่จับมาได้จำนวนมาก แต่ขายไม่ได้ และได้รับคำแนะนำให้นำปลาที่จับมาได้มาแปรรูปเป็นปลาแห้ง จึงได้รวมกลุ่มกันศึกษาและแปรรูปปลาสดเป็นปลาแห้ง หลังจากมีการแปรรูปแล้วก็เกิดไอเดีย "ปลาแลกข้าว" เนื่องจากเรามีทรัพยากรเป็นของตัวเองเยอะมาก ก็จะสามารถแปรรูปเพื่อที่จะส่งไปช่วยพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแนวคิดดังกล่าว
"ตอนนี้ได้ระดมพี่น้องชาวเลมาช่วยกันทำปลาตากแห้ง เพื่อจะส่งไปแลกข้าว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พี่น้องไม่สามารถที่จะไปซื้อข้าวสารได้ เพราะไม่มีเงิน ปลาเรามีแต่ว่าถ้าปลาขายไม่ได้ เงินเราก็ไม่มี เราก็เลยพยายามที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาของพี่น้อง เพราะว่าที่ผ่านมาการสนับสนุนของหน่วยงานท้องถิ่น ทยอยมา แต่ยังไม่ทั่วถึง เพราะคนของเราเยอะ พันกว่าคน ต้องใช้ข้าวสารเยอะ เราเลยมีแนวคิดที่จะแปรรูปปลาที่หามาได้ ซึ่งเป้าหมายของเราก็คือเอาไปแลกข้าวเพื่อจะให้คนในชุมชนได้กินข้าว เพราะว่าเรามีปลาอยู่แล้ว แต่ไม่มีข้าว โดยจะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ แล้วก็เครือข่ายยโสธร ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยจะรวบรวมข้าวสาร หรืออื่นๆ เช่น กระเทียม หัวหอมมาแลกกับปลาที่พี่น้องชาวเลได้ทำการแปรรูปแล้ว" นายสนิทกล่าว
นายสนิท กล่าวด้วยว่า ในการทำปลาตากแห้งเราได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปแลกข้าวในชุดแรก โดยจะแบ่งจัดส่งให้กับเครือข่ายทางภาคเหนือ 1,500 กิโลกรัม และอีก 1,500 กิโลกรัมส่งให้กับเครือข่ายยโสธร ส่วนชุดต่อไปจะมาคิดกันอีกทีว่าจะทำปลาตากแห้งแลกข้าวตลอดทั้งปีหรือทำเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตอนนี้กำลังพูดคุยกันอยู่ว่า น่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งของชุมชนชาวเลราไวย์ ทั้งในรูปแบบของปลาตากแห้ง หรือปลาแช่แข็ง ที่จะส่งออกหรือว่าส่งขายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ด้านนายสมชัย ฤทธิชัย ตัวแทนมูลนิธิชุมชนไท ผู้ประสานงานพี่น้องเครือข่ายชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้มีการประสานทางกองทัพอากาศในเรื่องของการขนส่งปลาตากแห้งของพี่น้องชาวเลราไวย์ไปยังพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสาน ซึ่งทางกองทัพอากาศจะสนับสนุนการจัดส่งด้วยเครื่องบิน โดยการนำข้าวสารจากยโสธรมาส่งที่ภูเก็ตและนำส่งปลาจากภูเก็ตส่งไปยโสธร รอเข้าประชุมอีกครั้งในวันศุกร์นี้.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 เม.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.