ผมอยู่ปูตาโอมา 3 วันแล้วครับ ปูตาโอเป็นเมืองเหนือสุดของรัฐกะฉิ่นของเมียนมา อยู่ใกล้กับภูเขาคากาโบราซีที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งของนกเฉพาะถิ่นและกล้วยไม้หายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ดำ
เอาละครับ ผมขออนุญาตรับใช้ต่อจากฉบับวันจันทร์เมื่อวาน เรื่องในอดีตที่เมียนมาหรือพม่า (ชื่อในอดีต) ถูกปกครองโดยอังกฤษ ตอนนั้นพวกอังกฤษอยากขายข้าว จึงออกนโยบายให้เกษตรกรพม่าไปหักร้างถางพง เปลี่ยนป่ามาเป็นนาข้าวซึ่งต้องใช้ทุนสูงและเวลานาน คนพม่าไม่มีทุนก็ไปกู้เงินจากคนอินเดีย ขณะนั้นอังกฤษนำคนอินเดียเข้ามาเป็นข้าราชการ แพทย์ นักกฎหมาย ทำบริษัทห้างร้าน ส่วนคนอินเดียที่ไม่มีทักษะอาชีพก็ให้ไปเป็นกรรมกรค่าจ้างราคาถูก ส่วนหนึ่งทำอาชีพให้เงินกู้เก็บดอก
นโยบายของอังกฤษทำให้พม่าเพิ่มการส่งออกข้าวจากปีละ 4 แสนตัน มาเป็นปีละ 2 ล้านตัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่ามีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มจาก 2 ไร่ไปเป็น 10.25 ล้านไร่ และต่อมาเพิ่มสูงขึ้นถึง 45 ล้านไร่
แต่เกษตรกรพม่ายิ่งปลูกข้าวยิ่งจน เจ้าใหญ่นายโตของคนพม่าสมัยนั้นคืออังกฤษและพม่าชั้นสูง นายทุนคือพวกนายทุนเงินกู้ชาวอินเดียที่เรียกว่าเฉตตยาร์ นายทุนอินเดียให้เงินคนพม่าที่มีฐานะเอาไปปล่อยต่อให้เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15-30 ต่อปี ส่วนพวกที่เพิ่งแปลงป่ามาเป็นนาข้าวได้ไม่นานยังไม่ให้ผลผลิต ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 46 ต่อปี นอกจากคนอินเดียแล้ว ก็ยังมีคนจีนที่เข้าปล่อยเงินกู้ในลักษณะเดียวกัน
คนพม่ากู้เงินจากอินเดีย (และคนจีน) ได้ก็นำไปใช้ในการหักร้างถางพงและซื้อสินค้าที่มีการนำเข้าไปขายถึงในท้องถิ่น เมื่อเงินไม่พอก็ต้องกู้กันใหม่ ทำให้ชาวนาพม่าเป็นหนี้เพิ่ม เมื่อหาเงินมาจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไม่ได้ ก็โดนยึดที่ดิน เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ พวกชนชั้นปกครองรู้กับพวกนายทุนหลอกให้เกษตรกรเปลี่ยนป่าเป็นที่นาให้พวกตัวเองนั่นเอง
สมาชิกรัฐสภาสมัยนั้นมีแต่พวกนายทุน พวกนี้ออกกฎหมายที่ดินที่ซับซ้อนแบบสัญญาต่างๆก็ใช้ภาษาสูง สูงจนชาวนาที่ไม่มีการศึกษาอ่านแล้วไม่เข้าใจ นอกจากนั้น รัฐบาลอาณานิคมยังออกกฎหมายให้เกษตรกรผู้บุกเบิกและเสียภาษีที่ดินครบ 1 ปี ได้รับ occupancy right หรือใบจับจอง และให้เกษตรกรใช้ใบจับจองเป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้ เกษตรกรจึงกู้เงินได้อย่างรวดเร็ว เมื่อหาเงินมาคืนไม่ได้ก็สูญเสียที่ดินไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อถูกนายทุนยึดที่ดิน เกษตรกรก็ต้องไปเปลี่ยนป่ามาเป็นที่นาข้าวอีก แล้วก็โดนนายทุนยึดอีก เป็นวัฏจักรอย่างนี้ไม่จบ
ชนชั้นปกครองก็หลอกประชาชนด้วยการสร้างกิจกรรมช่วยเหลือนิดๆ หน่อยๆ เพื่อผลทางจิตวิทยาว่าพวกเราชนชั้นปกครองยังเป็นห่วงพวกท่านประชาชนอยู่นะ สถานการณ์ในพม่าตอนนั้น นายทุนรวยอย่างรวดเร็วจากการขายสินค้าที่เอาไปประเคนขายให้เกษตรกรถึงในท้องถิ่น รวยจากการที่ได้ดอกเบี้ย และจากการที่มีที่นาเพิ่มขึ้น
ส่วนเกษตรกรมีแต่หนี้สินและตกงาน รัฐบาลเก็บภาษีในอัตราสูง คนจนตรอกหาทางออกด้วยการประกอบอาชญากรรมปล้นจี้ การฆาตกรรมมีสูงจนคุกไม่พอขังนักโทษ รัฐบาลต้องปล่อยนักโทษเก่าก่อนกำหนด เพื่อให้คุกมีที่ว่างพอสำหรับนักโทษใหม่
รัฐบาลยอมให้พวกนายทุนผูกขาดการค้าข้าวซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มบริษัทที่เรียกว่าบูลลิงเจอร์ พูล กลุ่มนี้ทำให้ชาวนาถูกกดราคาข้าวหนักขึ้น ต้องยอมขายข้าวในราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ผลิต เมื่อชาวนาพม่าจนตรอก ทนไม่ไหว ก็ลุกขึ้นมาฆ่านายทุนอินเดียทั่วย่างกุ้งและในส่วนอื่นของประเทศ เพียง 2 วันมีคนตายไปมากถึง 300-500 คน บาดเจ็บเป็นพันคน
พรุ่งนี้มารับใช้กันต่อว่า เกษตรกรพม่าที่ถูกขับจนจนมุม รวมหัวกันลุกขึ้นมาจัดการนายทุนและรัฐบาลอาณานิคมที่รู้กันกับนายทุนในสมัยนั้นอย่างไร.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 10 มี.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.