บริโภคชะงัก ภาคกลาง-อีสานจนเพิ่มกว่า5 แสนคน
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ พบว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนคนยากจนลดลงต่อเนื่อง แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศ ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น
โดยระหว่างปี 2558-61 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% หรือเพิ่มจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน ทั้งนี้ ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 61 นี้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 คนในช่วงปี 2558-61 ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้
รายงานนี้วิเคราะห์ว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จีดีพีมีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากการค้าโลกอ่อนตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ภัยแล้งได้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด โดยยังพบว่ารายได้ที่แท้จริงจากภาคเกษตรและภาคธุรกิจลดลง ทั้งในกลุ่มที่อาศัยอยู่เขตชนบทและเขตเมือง “แนวโน้มความยากจนแสดงให้เห็นว่า แม้ไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีระดับหนึ่ง แต่ครัวเรือนมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง”
นางเบอร์กิท กล่าวว่า การที่ไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนไทยต้องได้รับการดูแล จากกรณีที่รายได้ของครัวเรือนปรับลงรุนแรงจากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มี ผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างสูงกว่านี้.
ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 6 มี.ค.2563