สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แห้งขอดมาหลายเดือนแล้ว แต่ชาวนาริมคลองกลับเริ่มทำนารอบใหม่ โดยหวังว่าจะใช้น้ำจากบ่อบาดาลที่ลงทุนขุดไป ไปหลายหมื่นบาท ซึ่งการลงทุนใหม่รอบนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงว่าพวกเขาจะมีรายได้พอปะทังชีวิตอีกฤดูกาลผลิต หรือ จะกลายเป็นหนี้สิ้นที่พอกพูนมากขึ้นอีก
คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง แห้งขอดไม่มีน้ำสักหยด
คลองมะขามเฒ่าอู่ทองเป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร ขณะนี้แห้งขอดลงจนแทบไม่เหลือน้ำสักหยด เป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของภัยแล้วปีนี้ชัดเจน แต่ภาพนี้กลับสวนทางกับวิถีชาวนาบริเวณนี้ พวกเขาเริ่มทำนารอบใหม่ ทั้งที่มีประกาศจากหน่วยงานรัฐว่า จะไม่ส่งน้ำให้ใช้เพื่อการเกษตรจนกว่าฤดูแล้งปีนี้จะผ่านพ้น
ทรงวุฒิ บงเรือน เจ้าของนาแปลงนี้ บอกว่า เขาหวังว่า น้ำจากบ่อบาดาลที่ลงทุนขุดเจาะไว้ตั้งแต่ทำนารอบที่แล้ว จะเพียงพอให้หล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เติบโตและเกี่ยวขายได้
บ่อบาดาลเกือบทั้งหมดในพื้นที่ เกิดขึ้นหลังจากคลองมะขามเฒ่าอู่ทองขาดน้ำ ในช่วงที่นาข้าวกำลังเตรียมตั้งท้องออกรวง ชาวนาบางส่วนจึงตัดสินใจขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม ซึ่งนั่นหมายถึง ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มตามไปด้วย
“นาข้าวแปลงนี้ก็ใช้บ่อบาดาลในการปลูกข้าวหนีตายมาเหมือนกัน และเพิ่งเก็บเกี่ยวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า แต่ก่อนที่เจ้าของนาจะเจาะบ่อบาดาล เขาลงทุนไปกับ ค่าพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน ไปแล้วมากกว่า 4 หมื่นบาท ซึ่งหากตอนนั้นเขาปล่อยให้ข้าวแปลงนี้แห้งตายเงินทุนที่ลงไปจะเสียเปล่าทันที นั่นเป็นเห็นผลให้เขาลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มอีก 6 หมื่นกว่าบาท ทำให้การลงทุนรอบนี้สูงถึงกว่า 1 แสนบาท แต่เมื่อมาดูผลผลิต ปรากฎว่าได้เงินกลับมาแค่ 3 หมื่นกว่าบาท หักลบแล้วยังขาดทุนอีกกว่า 8 หมื่น ตัวเลขที่ติดลบนี้คือปัจจัยที่บีบคั้นให้ชาวนากลุ่มนี้ต้องปลูกข้าวอีกรอบเพื่อที่อย่างน้อยจะได้คุ้มกับค่าเจาะบ่อบาดาลที่ลงทุนไป”
จำนงค์ เป็นหนึ่งในชาวนาอีกคนที่กำลังเริ่มทำนารอบใหม่ โดยการขอเช่าที่นาและบ่อบาดาลต่อมาอีกทอด แม้จะรู้ดีว่าการฝืนทำนาหน้าแล้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งน้ำบาดาลอาจจะหมด และผลผลิตอาจเสียหายจากสภาพอากาศ แต่ จำนงค์ บอกว่าจำเป็นต้องทำเพราะมีหนี้สินบีบรัดเป็นปัจจัยให้ต้องเดินหน้า ทั้งที่รู้ว่า มีความเสี่ยง
การลงทุนทำนารอบใหม่นี้ หากโชคดีชาวนาที่นี่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตมีเงินสำหรับใช้จ่าย ชำระหนี้สินและค่าขุดบ่อบาดาล แต่หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามแผน เงินทุนรอบใหม่นี้อาจกลายเป็นหนี้พอกพูน
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ระบุว่า ขณะนี้มียอดสินเชื่อที่ปล่อยให้เกษตรกรใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 รวมกว่า 1,470,000 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตัวเลขทั้งปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 22,854 ล้านบาท
ที่มา : PPTV วันที่ 31 ม.ค. 2563