"ส.ว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์"หนุนงบสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข็มแข็งรองรับยุคดิสรัป เสนอโมเดลบันได 3 ขั้นทางออกบูรณาการของรัฐ แนะเลิกแจกเบ็ดประชาชน แต่ให้ลุกขึ้นสู้ตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเอง
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย ในมาตรา 49 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจไมโคร ที่แม้จะเป็นเศรษกิจขนาดเล็ก แต่ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งในงบรายจ่ายปี 63 กำหนดไว้ในหมวด 4 จำนวน 15 มาตรา น่าจะเป็นมิติใหม่ของรัฐบาลคสช.และรัฐบาลชุดนี้ที่กำหนดขึ้นมาในงบ 2.3 แสนล้าน หรือ 7.3%
ทั้งนี้ ในมาตรา 49 ที่มีการบูรณาการเศรษฐกิจฐานรากถึง 6 กระทรวง แม้จะใช้งบไม่มาก แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ตนเห็นด้วย คือ จำนวน 3,018 ล้านบาท ตนสนับสนุนเพราะรวมเรื่องสำคัญไม่แยกส่วน ทำให้ไม่เป็นเงินเบี้ยหัวแตก เกิดผลรับที่ชัดเจนกระทบมหาศาล และประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นได้ง่าย และมีความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ
นายอภิชาติ อภิปรายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้หากดูในภูมิภาคหรือชนบท จากที่ตนลงไปหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบมาก รายได้ไม่พอรายจ่าย ชาวบ้านบ่นเงินในกระเป๋าหายไปไหนหมด ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาสองจังหวัด และทำงานเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนมา ขณะนี้เราได้ยินคำว่าดิสรัป หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทีไปเร็วมาก ที่มีผลกระทบถึงท้องถิ่นทั้งในไทยและทั้งโลก ขณะนี้อีคอมเมิชในไทยโตปีละ 7-8 % เกือบเท่างบประมาณประเทศ ส่งผลกระทบหลายเรื่อง พฤติกรรมการตลาดเปลี่ยนไปหมด ระบบการค้าทางออนไลน์ ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนไป เม็ดเงินใหม่ที่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิค ทำให้เงินหมุนในระบบค่อนข้างยาก ส่งผลกระทบอย่างมากไม่ว่าในเมืองหรือชนบท
"การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน ผมเอาค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณคนละ 300 บาทต่อวัน เห็นว่าไม่น่าจะพอ ทั้งค่าที่พัก ค่ากิน น้ำไฟ จิปาถะทำให้เงินในกระเป๋าเริ่มหายไป และที่น่าสนใจคือหนี้ครัวเรือน ขณะนี้คนในชนบทเป็นหนี้เร็ว หนี้มาก และหนี้นาน ซึ่งธปท.ระบุหนี้ภาคครัวเรือนคนไทยว่าเป็นหนี้ประมาณ 78.6% ของจีดีพี ถ้ายืนอยู่ในน้ำหนี้ครัวเรือนระดับนี้คงใกล้ถึงจมูกแล้ว นี่คือปัญหาตามมาที่เงินชาวบ้านไม่พอใช้ทุกวันนี้" นายอภิชาติกล่าว
นายอภิชาติ กล่าวว่า ปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ตัวอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งความจริงมีวัตุประสงค์ชัดเจนและช่วยเหลือประชาชนได้มาก แต่มีปัญหาที่ต้องแก้เพิ่มเติมคือ สินค้าที่นำลงไปให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเป็นสินค้าโรงงานส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันพืช น้ำตาลทราย แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ แต่เมื่อรูดแล้วเงินจะกลับมาส่วนกลางทันที การต้องการให้หมุนในชุมชน 4-5 รอบก็ไม่ทัน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่แต่ละปีมีงานประเพณีต่างๆ เช่น งานวัด การแข่งขันกีฬา เป็นการหมุนในชนบทดีที่สุด ซึ่งควรมีการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน
นอกจากนี้ เราเห็นปัญหาห่วงโซ่ของระบบเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งงานวิจัยสกว.ได้ตัวเลขคราวๆระบุว่า ห่วงโซเศรษฐกิจชุมชนมีตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำคือ ชาวบ้าน ได้กำไรจากการผลิตสินค้าเพียง 2-5% ฟังแล้วน่าตกใจ ส่วนกลางน้ำคือ คนแปรรูป รวบรวมสินค้า และปลายทาง คนขายได้ 50% ซึ่งเป็นสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดในชนบทลักษณะคล้ายปลาใหญ่กินปลาเล็ก โครงสร้างนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร
อดีตอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ได้เสนอแนวทางแก้ไข คือการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งในหลวงร.9 ตรัสถึงเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า ซึ่งตนขอเสนอโมเดลบันได 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 บุคคลและครัวเรือน คือประชาชนในชนบททั้งประเทศ โดยทำสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ขั้นที่ 2 คือการรวมกลุ่มที่เห็นคือวิสาหกิจครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน เอสเอ็มอี และขั้นสุดท้ายคือเครือข่าย มีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นคือ วิสาหกิจเพื่อสังคม เหล่านี้น่าจะเป็นทางออกการทำงานบูรณาการของรัฐบาล
ขณะนี้ ที่ผ่านมาการบูรณาการ โดยเฉพาะใน ม.49 เราใช้งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท ถือว่าไม่มาก แต่ที่เห็นในเอกสารลักษณะเหมือนรถบรรทุกเป็นคันๆ เรามี 20 กระทรวง 120 กว่ากรม แต่บูรณาการได้ 6 กระทรวง แต่พอดูไส้ในเหมือนรถบรรทุกเป็นคันๆ ถ้าบูรณาการที่แท้จริงจะต้องจับรถทั้งหมดเป็นโบกี้ขึ้นเป็นรถไฟขบวนเดียวกันและรางเดียวกัน ถ้าทำได้การบูรณาการตามแผนงานเศรษฐกิจฐานรากก็จะบูรณาการที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในวงเงินที่กำหนดไว้
“มีคนกล่าวว่าถ้าต้องการให้คนมีชีวิตรอดหนึ่งวันต้องให้ปลาเขา แต่ถ้าต้องการให้คนๆนั้นมีชีวิตได้ 365 วันต้องให้เบ็ด แต่ขณะนี้สิ่งที่เห็นพอเราให้เบ็ดกับชาวบ้าน สิ่งที่เกิดคือ ภาชนะหรือถังที่ชาวบ้านมีอยู่ มีผลิตภัณฑ์ของบรรจุ ที่ชาวบ้านต้องการก็มี ไม่ต้องการก็มี ขณะนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว คงไม่ใช่ให้เบ็ด แต่ต้องให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้กับเรา คือต้องตั้งเป้าหมายชีวิตได้เอง และลงมือทำงานร่วมกับรัฐบาล ถ้าเราทำได้ผมมั่นใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานในลักษณะการบูรณาการตามแผนงานของรัฐบาลจะมีความเป็นไปได้สูง” นายอภิชาติ กล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 ม.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.