จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมหารือสามฝ่าย ประกอบด้วย กองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร สมาคมธนาคาร และตัวแทนลูกหนี้เกษตรกร จากเครือข่าย อาทิ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย เครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
ณ ปัจจุบัน นี้ มีจำนวนเกษตรกรที่กองทุนฟื้นฟูฯต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน 1.5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 5.4หมื่นล้านบาท ซึ่งปัญหาแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ
1. ขอขยายเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรออกไปจากวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ซึ่งมีอยู่ 1,340 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 3,500 ล้านบาท หากไม่ได้รับการชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย เกษตรกรลูกหนี้อาจถูกดำเนินคดี ที่ทำกินและทรัพย์สินถูกขายทอดตลาด
2.การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กลุ่มที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ หนี้ไม่เกิน 2.5ล้านบาท และที่เกิน 2.5ล้าน
3.ปัญหาสหกรณ์ไม่ขายหนี้ให้กองทุนฟื้นฟู (กองทุนรับชำระหนี้เงินต้น100% ดอกเบี้ย7.5% ระยะเวลาคิดดอกเบี้ย 10ปี) เนื่องจากลูกหนี้ไม่จ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าปรับ กรณีเป็นหนี้เกินระยะเวลา10ปี จำนวน 1.6 แสนราย มูลหนี้ 1.6หมื่นล้านบาท
4.กองทุนฟื้นฟูฯไม่สามารถซื้อทรัพย์สินที่หลุดจำนองคืนให้เกษตรกร เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์การซื้อคืน เช่น ทรัพย์ไม่ได้ผ่านการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี บุคคลภายนอกไม่ยอมขายคืน มีจำนวน 3,099 ราย
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายจุรินทร์ ได้มีข้อสั่งการ
1.ให้ทั้งสามฝ่ายเจราจาร่วมกันหาทางออก ในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะที่ผ่านมาขาดการพูดคุยบนพื้นฐานของความเข้าใจและความจำเป็นของแต่ละฝ่าย จึงไม่สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับได้ เมื่อได้ข้อสรุป จะนำเข้าสู่การประชุมกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ในวันที่23 ม.ค.นี้ และนำเสนอครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
2.กองทุนฟื้นฟูฯยกร่างการปรับปรุงระเบียบในเรื่องการซื้อทรัพย์หลุดจำนอง
3.ให้กองทุนฟื้นฟูฯทำข้อมูลลูกหนี้ แยกประเภทหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูรายบุคคล และหารือกับสมาคมธนาคาร เพื่อให้ธนาคารดำเนินการชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรจำนวน 1,340 ราย
ในส่วนการแก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯให้มีอำนาจในการจัดการหนี้เกษตรกรที่บุคคลค้ำประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรเรียกร้องมานาน เพราะหนี้เกษตรกร 70% ใช้บุคคลค้ำประกัน) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู ฉบับปรับปรุงแก้ไขกำลังจะเข้าสูการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆนี้
“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาหนี้สินเกษตรกร ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ในวันที่23 มกราคม เชื่อมั่นว่าปัญหาจะได้ข้อยุติเพราะเป็นการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และกองทุนฟื้นฟู เพื่อเป้าหมายให้เกษตรกรไม่สูญเสียอาชีพและที่ดินทำกิน” นางสาวรัชดา กล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 ม.ค. 2563