เปิดใจ ดำรงค์ พิเดช ปฏิบัติการยึดคืนผืนป่า "วังน้ำเขียว"
ดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่ลุยปราบคดีบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานฯอย่างหนัก ตั้งแต่กรณีวังน้ำเขียว เรื่อยมาจนถึงการบุกรุกป่าที่ภูเก็ต "ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ดำรงค์" ถึงสถานการณ์ล่าสุดในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
สถานการณ์ล่าสุดกรณีวังน้ำเขียวเป็นอย่างไร
กระบวนการทางศาลสิ้นสุดแล้ว โดยให้รื้อถอนเพิ่มเติมอีก 30 ราย โดยเฉพาะรีสอร์ตขนาดใหญ่ เช่น "ทะเลหมอก" ที่มีการบุกรุกเนื้อที่กว่า 70 ไร่ แต่หลังจากนี้จะให้ทางรีสอร์ตยื่นอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ก่อนกรมอุทยานฯจะเข้าไปรื้อถอน คาดว่าเดือนกรกฎาคมนี้น่าจะรื้อถอนได้ ส่วนชาวบ้านผมให้อยู่ตามมติ 30 มิถุนายน 2541 คุณทำกินอะไรก็อยู่ไป ตามขอบเขตที่แจ้งไว้ ส่วนที่อยู่หลัง 30 มิถุนายน ถ้าเป็นประชาชนยากจน ทำกินตามสภาพ เราก็ผ่อนผันให้ แต่ถ้าเปลี่ยนมือหลังจากแจ้งไปแล้ว จากทำการเกษตรเป็นรีสอร์ต ผมต้องรื้อและจับด้วย แต่พวกรีสอร์ตก็ไม่ใช่พวกไปบุกรุกครั้งแรก พวกนี้คือพวกไปซื้อต่อที่ปากเปล่า โดยมีภาษีดอกหญ้า (ภทบ.5) แต่ผมบอกว่ามันไม่เกี่ยว เพราะกรณีวังน้ำเขียวเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ
เจอแรงต้านในพื้นที่ขนาดไหน
ก็เจอ มีทุกที่ แต่ก็ต้องทำและสู้กันไป ไม่อย่างนั้นอุทยานฯก็จะเหลือแค่ในแผนที่
กรณีวังน้ำเขียวจะเคลียร์จบจริง ๆ เมื่อไหร่
อาจจะไม่จบทั้งหมดในกรกฎาคมทั้งหมด แล้วแต่จังหวะที่ศาลจะสั่ง แต่วันนี้เราต้องการทำรายใหญ่ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นไม่ไปทำอีก
ที่วังน้ำเขียวยึดคืนมาได้กี่ไร่
ยึดได้ 3,000 กว่าไร่ จาก 20,000 กว่าไร่ ขณะนี้เราก็ทยอยรื้อเรื่อย ๆ ในส่วนที่ผิดกฎหมาย ส่วนพื้นที่ที่เราได้คืนมาจะทยอยปลูกป่าไม้ดั้งเดิมในพื้นที่
จะทำให้ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา
เปล่าเลย พื้นที่ป่ามีแต่คงที่และลดลง ได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานฯมีแต่จะสูญเสีย
มีพื้นที่ไหนน่าห่วงอีก
น่าห่วงที่สุดก็เป็นที่วังน้ำเขียว รองลงมาคือภูเก็ต แต่ที่ภูเก็ตเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการสู้กันของหลักฐานที่ราชการออกให้ ซึ่งต้องดูก่อนว่าหลักฐานออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบใบแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค.1 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเพิกถอนโฉนดไม่มีใครทำ เพราะเป็นอำนาจต่างกรม ไม่ใช่อำนาจกรมอุทยานฯ ถ้ากรมอุทยานฯมีอำนาจเพิกถอน ผมจะถอนให้ดูทันที แต่ผมไม่มีอำนาจ
วันนี้ต้องบอกว่าภาคใต้ได้สูญเสียทำเลบนภูเขา ริมหนองน้ำกับ ส.ค.1ลอยมโหฬาร แต่ผมก็ทำเท่าที่จะทำได้ เป็นการสู้คนละแบบ ที่ภูเก็ตผมต้องสู้กับข้าราชการด้วยกันในเรื่องหลักฐาน
พื้นที่ป่าไม้ก็ลดน้อยลงเพิ่มขึ้นมั้ย
มีแต่คงที่และลดลง ได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานฯมีแต่จะสูญเสีย
เจ้าหน้าที่อุทยานฯหรือข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ มีผลต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืชและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
100% พวกนี้เขาไปมองว่าจะเอาเงินคืนอย่างไร ยกตัวอย่างว่าวันนี้มีการตัดไม้พะยูงเต็มไปหมด เดินไปชี้เลยว่าต้นนี้ขายเท่าไหร่ หรือยังไม่ทันตัดก็ขายดิบปากเปล่า ขายพิกัดต้นละ 20,000 บาท ตามคิวไม้ที่มีอยู่ แต่เวลาสอบเอาผิดลำบากมาก เพราะไม่มีพยาน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ระเบียบราชการทำได้แค่นี้ ที่ผ่านมา คนที่จะเข้าไปเป็นหัวหน้าอุทยานฯ มีหลายลักษณะ ทั้งเด็กฝาก ทั้งซื้อตำแหน่งเข้าไป ฉะนั้น เรื่องสำคัญคือเรื่องคน ถ้าเราได้คนดี คนพวกนี้จะเข้าไปทำงานต่อสู้กับสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ
สถานการณ์ไม้พะยูงจะเป็นอย่างไร
ในอนาคตไม้พะยูงอาจจะหมด แต่อาจจะช้าลง การตัดไม้สำหรับคนไทยวันนี้เบาลง แต่ต่างชาติยังเหมือนเดิม เพราะมันเป็นทองคำในป่า
จะแก้ยังไงให้การตัดไม้พะยูงลดลง
ผมก็ทำได้ตามกำลังและงบประมาณที่ผมมี
ท่านอธิบดีไปลงไปลุยจับด้วยตัวเอง ไม่กลัวหรือ
กลัวสิ แต่ก็ต้องทำ ถ้าเราไม่ทำก็เจ๊ง กรมก็อยู่ไม่ได้ แล้วแต่แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน อย่างภาคใต้ไม่มีไม้พะยูงแต่รุกป่าเพื่อปลูก มีนายทุนและการเมืองอยู่เบื้องหลัง เป็นตัวทำลายป่าเช่นเดียวกับที่ภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือโค่นเตียนหมด เพื่อเข้ามาอยู่อาศัย ส่งผลให้ควบคุมการอพยพเข้าจากต่างด้าวได้ยาก เพราะมีการทำบัตรปลอมเข้ามา แล้วก็มีการโกงกินกัน นี่คือเบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่รู้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 มิ.ย. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.