คลังเตรียมออกเกณฑ์ที่ดินเกษตรเสียภาษีที่ดิน พร้อมหารือข้อควรปฏิบัติร่วมมหาดไทย 20 ธ.ค.นี้ ชี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เพิ่มภาระผู้จ่ายภาษี คาดจัดเก็บภาษีที่ดินได้ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในส่วนอัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรรม ยังต้องออกกฎหมายรองเพื่อกำหนดเกณฑ์ว่าปลูกพืชเท่าใดถึงจะนับว่าเป็นพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเรื่องมายังกระทรวงการคลังแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทย ในการปรับปรุงกฎหมายรองให้มีความชัดเจนอยู่ โดยในวันที่ 20 ธ.ค.62 ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง ถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
“สำหรับกฎหมายรองที่จะออกมา จะมีการจำแนกพรรณไม้และจำนวนการปลูกพืชอย่างชัดเจน อาทิ พื้นที่ 1 ไร่ จะต้องปลูกกล้วยอย่างน้อย 200 ต้น แต่หากปลูกน้อยกว่าที่กำหนดไว้ จะคิดภาษีที่ดินที่เหลือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขอื่นประกอบการพิจารณาด้วย เช่น กรณีพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เช่น การขุดบ่อน้ำ เป็นต้น ให้ถือว่ารวมเป็นพื้นที่เกษตรเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ ในส่วนของการคิดอัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรมยังมีการบรรเทาเพื่อลดภาระของประชาชน คือ ใน 3 ปีแรก เจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเกษตรกรรม และในปีที่ 4 จะได้รับการยกเว้นจากฐานภาษี 50 ล้านบาท ส่วนที่นอกเหนือจากฐานภาษี 50 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดไว้ เช่น มูลค่า 0-75 ล้านบาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.01ต่อปี เป็นต้น ในขณะที่นิติบุคคลถึงแม้จะมีการใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรมก็จะต้องเสียภาษีที่ดินตั้งแต่บาทแรก
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2563 นั้น จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เสียภาษีที่ดินมากนัก แต่บางรายอาจต้องเสียเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของทรัพย์สินเป็นหลัก แตกต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บจากค่าเช่ารายปีด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ออกมาจะสามารถลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้คาดว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน่าจะใกล้เคียงกับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้อง ซึ่งจัดเก็บได้ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 ธ.ค. 2562