ที่ปรึกษาพีมูฟพาย้อนประวัติศาสตร์ 164 ปี สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จุดเริ่มต้นทำที่ดินเป็นสินค้า นักวิชาการ มช. ย้ำ 5 ปีหลังรัฐสัมพันธ์แน่นกับนายทุน ทำสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ดินไทยเข้าขั้นวิกฤต-เปลี่ยนประเทศหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาสถาบันทางวิชาการ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายนักธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ร่วมกันจัดงาน มหกรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2 หัวข้อ “หยุดวิกฤติความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย” ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อย้อนประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำที่ดินไทย ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ตลอดจนหาแนวทางฝ่าวิกฤตที่ดินที่รุนแรงขึ้น
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) พาย้อนประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำที่ดินไทยตั้งแต่ปี 2398 ที่มีสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ให้สิทธินอกอาณาเขตชาวต่างชาติเข้ามาเช่าและซื้อที่ดินได้ ต่อมามีโครงการขุดคลองรังสิต ซึ่งให้บริษัทคูแลนาเข้ามาลงทุนขุดคลอง และได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณริมสองฝั่งคลองรังสิตฝั่งละ 800 เมตร ทำให้ชาวนาที่ทำกินอยู่บริเวณนั้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกิน
“พระบรมราชโองการตอนนั้นบอกว่าใครที่มาลงทุนจะได้ที่ดิน ปรากฏว่าบริษัทได้ที่ดินไป 1.3 ล้านไร่ เราพบว่าจริงๆ โครงการนี้เป็นโครงการฟอกที่ดินที่ทำให้สิทธิของชาวนาหายไป แล้วให้สิทธิคนที่ขุดคลอง แล้วบริษัทก็ขายที่ดินให้ซื้อในราคาไร่ละ 4 บาท คนที่ลงทุนซื้อมาไร่ละ 1 บาท แต่มาขาย 4 บาท นี่คือโครงการแรก และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดคลองขึ้นหลายเส้น” ประยงค์กล่าว
ในระหว่างนั้น ประยงค์ได้เปิดเผยข้อมูลแบบสำรวจการถือครองที่ดินของผู้เข้าร่วมงาน พบว่า 272 คนที่ส่งแบบสำรวจ ถือครองที่ดินรวมกัน 1,840 ไร่ และ 50 เปอร์เซ็นต์ในนั้นถือครองที่ดินไม่ถึง 1 ไร่ ถ้าเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาวันนี้ 10 อันดับแรกของคนที่มีมูลค่าที่ดินมากที่สุด มีมูลค่ารวมกันถึงประมาณ 1,700 ล้านบาท
“ถึงเวลาแล้วหรือยังว่าต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ถ้ามีการจำกัด คนที่เดือดร้อนคือคนที่มีที่ดิน 6 แสนไร่ แต่คนอีก 50 ล้านคนจะได้รับความเป็นธรรม ขณะนี้มีตระกูลเดียวที่ถือครองที่ดินใหญ่กว่าจังหวัดสมุทรปราการทั้งจังหวัด ถ้าหามาอีก 40 ตระกูลมาเอาคนละจังหวัด เราก็ไม่มีที่อยู่กันแล้ว” ประยงค์ย้ำ
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้าน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินและทรัพย์สินในประเทศ พบว่าหากมองเฉพาะที่ดินที่มีโฉนด คนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์บนสุดได้ถือครองที่ดินอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาพความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด และถ้าดูที่ความต่างของคนที่มีที่ดินสูงสุดก็ต่างจากล่างสุดอยู่ถึง 326 เท่า
“ที่ดินมีการกระจุกตัวมาก ในขณะที่ทรัพย์สินโดยรวมของประเทศก็มีการกระจุกตัวเช่นกัน จะเห็นจากคนที่เป็นมหาเศรษฐีสิบอันดับแรก ที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นตลอด จากปี 2552 มา 2562 ทรัพย์สินของกลุ่มนี้โตขึ้น 6 เท่า เราก็เอาไปเทียบกับจีดีพีหรือตัวรายได้ทั้งหมดของประเทศ พบว่า 40 ราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี” นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กล่าว
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังพลิกสังคมไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือกระบวนการที่เรียกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการนี้ได้เบียดขับชาวไร่ชาวนาออกจากพื้นที่ ออกมาเป็นนโยบายรัฐคือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่มองเห็นคุณค่าของภาคเกษตรที่พวกเรากำลังทำ มองเห็นเพียงว่าจะผลิตแล้วขายเพื่อทำให้จีดีพีโตขึ้นอย่างไร
“ทั้งหมดคือการเบียดขับชาวนาชาวไร่ออกจากที่ดิน เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มทุนมาครอบครองเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล การขยายตัวของแนวคิดนี้จะเข้มข้มมากขึ้น การเปลี่ยนสถานะพื้นที่ชุมชนที่ไม่เคยสามารถครอบครองได้ จะกลายเป็นครอบครองได้ในรัฐบาลนี้ นี่คือกระบวนการเปลี่ยนทรัพย์สินทั้งหมดของเราให้เป็น Private Property ซึ่งจะตกอยู่แค่ในมือกลุ่มทุน” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว
นอกจากนั้น ศ.ดร.อรรถจักร์ยังเห็นว่า เราควรถอดบทเรียนการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพื่อเรียนรู้ แต่เพื่อกำหนดแนวทางในการต่อสู้ที่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี โดยเฉพาะการตระหนักว่าความเป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
“จำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องทำให้สังคมเข้าใจ และมองเห็นว่าความเป็นธรรมเท่านั้นที่จะสามารถแก้ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมเท่านั้นที่จะลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ไม่มีทางแก้ไขได้ด้วยการโยนเงินมาจากเฮลิคอปเตอร์ ไม่ว่าจะประชานิยมเข้มข้น หรือประชานิยมหน่อมแน้มแบบปัจจุบัน และความเป็นธรรมของสังคมที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือการทำให้ที่ดินหลุดจากเป็นสินค้า เมื่อใดก็ตามที่ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินลดลง ความเหลื่อมล้ำจะลดลง” ศ.ดร.อรรถจักร์ย้ำ
รังสรรค์ แสนสองแคว ผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ
ด้าน รังสรรค์ แสนสองแคว ผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ จากพื้นที่ปฏิรูปที่ดินบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เสนอแนวทางในนามเกษตรกรว่าต้องการให้มีมาตรการภาษีและการจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง และต้องไม่ลืมการแก้รัฐธรรมนูญด้วย
“มาตรการแรกคือ ต้องมีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อบีบให้คนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ คายที่ดินออกมา แต่ปัญหาคือเราจะใช้กลไกอย่างไร เมื่อคนที่ถือครองที่ดินกุมอำนาจไว้อยู่ ก็น่าจะต้องมีเครื่องมือ ไม่พอแล้วที่จะแก้แค่กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน ต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยให้มีเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน เพราะถ้าผลักดันแค่กฎหมายก็จะเป็นเพียงกฎหมายลูก และยังต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรม แต่ถ้าใช้ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าก็จะสามารถจำกัดการถือครองที่ดินได้อยู่แล้ว” เกษตรกรชาวลำพูนเสนอ
ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2561 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 ถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 61.5 ขณะที่ประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 หรือแตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากมาตรการทางภาษีที่ไม่มีการเก็บภาษีที่ดินในลักษณะอัตราก้าวหน้า “โดยผู้ที่มีที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดรวมกันมากถึงร้อยละ 80 ของที่ดินโฉนดทั้งหมด แต่ผู้ที่มีที่ดินต่ำสุดร้อยละ 20 เป็นเจ้าของเพียงร้อยละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของโฉนดที่ดินทั้งหมดในประเทศ” และ “ผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 1,000 ไร่ (1001,-500,000 ไร่) มีอยู่เพียง 837 ราย”
ที่มา : ประชาไท วันที่ 17 พ.ย. 2562
พชร คำชำนาญ รายงาน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.