"สุนทร รักษ์รงค์" ระบุ กองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกรจำนวน 5 แสนรายมูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท คือหนี้สินจากการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว คนที่มาโต้แย้งไม่ให้แบนสารเคมี ไม่ใช่ตัวแทนชาวสวนที่แท้จริง
21 ต.ค. 62 - ที่งาน Kick Off การยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการเสวนาหัวข้อ "ความจริงของ 3 สารจากคนทำงานสู่ผู้บริโภค" โดยนายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกรจำนวน 5 แสนรายมูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท คือหนี้สินจากการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว คนที่มาโต้แย้งไม่ให้แบนสารเคมี ไม่ใช่ตัวแทนชาวสวนที่แท้จริง ชาวสวนยาง 90% หรือ จำนวน 20 ล้านไร่ไม่ใช้สารเคมี มีเพียง 2.5 ล้านไร่ ที่ใช้สารเคมี เช่นเดียวกับสวนปาล์มที่มีสัดส่วนใกล้เคียง แต่พืชที่ใช้สารเคมีหนักสุดคือ การทำนา ซึ่ง ปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าหญ้า เป็นแพ็คเกจจากโรงสี ทำนาไปก็ขาดทุนเพราะต้นทุนสูง ทางออกคือ ต้องเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ เท่านั้น
"สารทดแทน อยู่ mineset ของเกษตรกร หากคิดว่าต้องใช้สารเคมีก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีแต่หากคิดว่าสารเคมีไม่จำเป็นมันก็จะไม่จำเป็น อีกส่วนสำคัญอำนาจรัฐ จะเยียวยาส่งเสริมสนับสนุนอย่างไร วาระเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ใน 20 ปี จะต้องเกิดขึ้นจริง" สุนทร ระบุ
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ผักผลไม้ที่มีสารตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก และห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจวิเคราะห์สารพิษของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น
ขณะที่แพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขถูกโจมตีเรื่องเกี่ยวกับการแบนสารเคมี ในเชิงดูถูกแพทย์ไทยเกี่ยวกับการวินิจฉัยคนไข้ ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่ สธ.มีอยู่ยืนยันได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ที่เข้าออกโรงพยาบาลเพราะพิษจากสารเคมีเกษตร 10,000 ราย
"สิ่งที่เคยเห็นคาตาคือคนไข้ที่ตายจากพาราควอต ตัวเหลือง ไตวาย น้ำลายฟูมปาก สารเคมีพวกนี้ออกฤทธิ์ 2 อย่าง คือเฉียบพลันได้รับมากๆ ก็จะเสี่ยงเสียชีวิตหรือหากรักษาได้ก็จะกลายเป็นอาการร่อแร่ พิการ ขณะที่หากได้รับแม้ไม่ปริมาณมาก ก็จะเกิดการสะสมจนเกิดเป็นโรคมะเร็ง" อ.ธีระวัฒน์ ระบุ และกล่าวต่อว่า จำเป็นต้องแบนเท่านั้น ไม่สามารถที่จะใช้มาตรการจำกัดการใช้ได้เพราะไม่ได้หยุดให้คนป่วยเป็นมะเร็งได้
ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การแบนสารเคมีเกษตร ไม่ใช่เรื่องของเกษตร แต่เป็นเรื่องของผู้บริโภคโดยตรง ที่จะมีสิทธิเลือกกินอาหารปลอดภัย ถ้ามีการแบน โอกาสที่ได้รับลดลง ถ้าไม่แบนนคือการให้ความรู้ สร้างเฝ้าระวังว่าสารเคมีอยู่ใกล้ตัวเพียงแค่หยิบเข้าปากเท่านั้นเอง
"จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบไกลโฟเสทในซีรั่มของแม่และสะดือเด็กทารกแรกเกิด 40-50 เปอร์เซ็นต์ สารเคมียาฆ่าหญ้าอาจตกค้างในดินมากกว่า 1 ปี การตกค้างของไกลโฟเซตในประเทศไทยนั้นม.นเรศวรได้ตรวจพบที่จังหวัดน่านโดยพบในดิน 145.04 - 3,311.69 ug/kg และพบการตกค้างในน้ำดื่มบรรจุขวด และพบในน้ำประปา ทั้งยังพบในน้ำปู ซึ่งเป็นอาหารของชาวภาคเหนือซึ่งจับปูในท้องนาที่ได้รับสารกำจัดศัตรูพืชมากินเป็นอาหาร" ดร.พวงรัตน์ ระบุ
ที่มา : Nation TV วันที่ 21 ต.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.