เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการพบผู้ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆปี กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งรัดจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้ยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ภายในปี พ.ศ.2563 ดังนั้น สบส.จึงอยากเชิญชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบในการ ละ เลิก ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) เริ่มจากครัวเรือนก่อนขยายผลไปสู่บ้านใกล้เรือนเคียง และชุมชน ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์จะใช้เศษอาหารจากครัวเรือน หรือพืชผลที่ไม่ได้ใช้มาทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้เป็นปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค ผลผลิตขายได้ราคาสูง
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีสบส. กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากสารเคมี 3 ชนิด อาทิ พาราควอต โดยหากรับทางการกินจะทำลายถุงลมปอด หากสัมผัสจากการหายใจจะทำลายทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต ส่วนพิษของสารคลอร์ไพริฟอส จะทำให้เกิดการลดลงของไอคิว สูญเสียความทรงจำในการทำงาน รบกวนการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสสารนี้อาจมีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็กในครรภ์ และพิษของไกลโฟเซตนั้น ทางสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็ง(2A) ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และอาจก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ประกาศจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ตัว ทั้งนี้ อย. ได้วางระบบให้ผักผลไม้ที่ปลูกในประเทศ ต้องผ่านการตรวจสอบสารพิษตกค้างและแสดงฉลาก ณ โรงคัดบรรจุ สามารถตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกได้ หากพบปัญหาคุณภาพ หรือการตกค้างของสารอันตราย และมีมาตรการเชิงรุกให้หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ประจำอยู่ทั่วประเทศ และให้ด่านอาหารและยา 52 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบผัก ผลไม้นำเข้าด้วย หากพบสารพิษตกค้างจะห้ามนำมาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งล่าสุด ปี 2562 ตรวจพบคลอร์ไพรีฟอสในผักผลไม้ ไม่ผ่านมาตรฐาน 37 ตัวอย่าง จาก 456 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.11 ส่วนใหญ่พบใน ส้ม คื่นฉ่าย มะเขือเทศ และคะน้า เป็นต้น.
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 19 ต.ค. 2562