รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอครม. แต่งตั้งผู้แทนเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน เป็นบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ เดินหน้าซื้อหนี้เกษตรกรมาฟื้นฟูอาชีพ มั่นใจปลดหนี้เกษตรกร 5 แสนราย มูลหนี้ 8.9 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรเป็นกรรมการในกฟก. แล้ว หลังจากที่มีการเลือกตั้งใน 4 ภูมิภาค ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้นำรายชื่อเสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม.ให้เห็นชอบและแต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่จะต้องเสนอแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จในห้วงเวลาเดียวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนเกษตรกรเพื่อให้มีคณะกรรมการกฟก. ครบทั้ง 3 ส่วนคือ กรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน และผู้แทนเกษตรกร 20 คน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบริหารงาน กฟก. ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2552
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กฟก. ผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยผู้แทนจากภาคราชการ 5 คน และจากภาคเอกชน 6 คน ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบแต่งตั้งแล้วจะทำให้คณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจ จะยุติการปฏิบัติงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชุดใหม่ ได้แก่ คณะกรรมการ กฟก. คณะกรรมการบริหาร กฟก. และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดำเนินการตามภารกิจปกติต่อไปได้
โดยได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนทันทีที่ดำรงตำแหน่งรมว. เกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรกว่า 5 แสนราย ที่เป็นสมาชิก กฟก. ค้างคามาเนิ่นนานทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลง ช่วงระหว่างที่เป็นสุญญากาศ ไม่มีคณะกรรมการ กฟก. พิจารณาซื้อหนี้มาเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ส่งผลเกษตรกรสมาชิก กฟก. หลายรายที่ถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด เสียที่ดินทำกินไป ซึ่งตนได้มอบหมายนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรมว. เกษตรและสหกรณ์ เจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ยืดระยะเวลาบังคับคดีออกไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จากนั้นจึงดำเนินการให้มีคณะกรรมการ กฟก. ชุดใหม่ขึ้นมาเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
“ตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยังกำหนดว่า เมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ การซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิมมาบริหารจัดการ โดยให้สมาชิก กฟก. ผ่อนชำระกับ กฟก. ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าแล้ว ยังจำเป็นต้องให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพ โดยกรรมการ กฟก. ต้องเข้าไปส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิ กฟก. เพื่อให้มีรายได้สามารถผ่อนชำระหนี้สิน เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ ซึ่งจะทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”นายเฉลิมชัย กล่าว
สำหรับตัวแทนเกษตรกรเป็นคณะกรรมการ กฟก. จำนวน 20 คน ประกอบด้วย ท้องที่จังหวัดภาคเหนือ นายสิทธัญ วงค์ปั๋น นายประสิทธิ์ บัวทอง นายสมศักดิ์ โยอินชัย นายไชยกร แย้มปั้น นายนิเทศน์ คำเป็ก ท้องที่จังหวัดภาคกลาง นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล นายกิตติพล ตะพานแก้ว นางนิสา คุ้มกอง นายนพรัตน์ เผ่าวัฒน์ชัย ท้องที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายปิยะมงคล สิงห์กลาง นายประจักษ์ บุญกาพิมพ์ นายกิตติกร เชิดชู นายสำเริง ปานชาติ นายถวิล ตรีวรปรัชญ์ นายนวคม เสนา นายจารึก บุญพิมพ์ และท้องที่จังหวัดภาคใต้ นายสมบูรณ์ จิตรเพ็ญ นายสาฝีอี โต๊ะบู นางพจมาน สุขอำไพจิตร นายดรณ์ พุมมาลี
ในส่วนกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการ กฟก. จำนวน 11 ราย ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ ภาคราชการ 5 คน ภาคเอกชน 6 คน เช่น นายครรชิต สุขเสถียร นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม นายสุจิโรจน์ คงเมือง นายสยาม นนท์คำจันทร์ นายวิเชียร บุตรศรี และภาคเอกชน นายนำชัย พรหมมีชัย นายเวชสิทธิ์ วิริยะภาค นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ นายสมพาศ นิลพันธ์ นายสุรัชต์ ธวัชโยธิน นายภาคภูมิ ปุผมาศ
กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร ผ่านโครงการส่งเสริมของรัฐ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์การเกษตร รวม 520,052 ราย ยอดหนี้ 89,377 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ล้มละลาย 47 ราย มูลหนี้ 245 ล้านบาท ปัญหาหนี้ NPL จำนวน 2,376 ราย ยอดหนี้ 1,171 ล้านบาท สำหรับหนี้ชำระปกติ 258,945 ราย มูลหนี้ 36,686 ล้านบาท
ขณะนี้ กฟก.ได้แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรทั่วประเทศผ่านสถาบันเจ้าหนี้ ทั้ง ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ นิติบุคคล ยอดรวม 29,241 ราย ยอดหนี้ 6,097 ล้านบาท และยังได้ช่วยรักษาที่ดินของเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อโอนหลักประกันมายัง กฟก. จากเจ้าหนี้ 21,234 แปลง เนื้อที่ 154,334 ไร่ และได้โอนหลักประกันที่ชำระแล้วคืนไปยังเกษตรกร จำนวน 4,603 แปลง เนื้อที่ 36,010 ไร่ และได้ติดตามภาระหนี้คืนจากเกษตรกร 1,429 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติเงินช่วยเหลือองค์กรเกษตรกรและพัฒนาอาชีพในปี 61 ทั้งการอุดหนุนและการให้กู้ยืม 10,454 โครงการ จำนวนเกษตรกร 494,897 ราย รวมเงินช่วยเหลือ 855.6 ล้านบาท
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 31 ส.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.