เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จัดเสวนาปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง สร้างประชาธิปไตย และความเป็นธรรม 'กมธ.สภาผู้แทนราษฎร' เผยพบที่ดินทิ้งร้างกว่า 70% สร้างความเสียหายกว่าแสนล้านต่อปี ชี้เหลื่อมล้ำสูงกว่าสมัยศักดินา ด้าน 'Protection International' ห่วงกระบวนการยุติธรรม ขยายความเหลื่อมล้ำ ยกเคสชุมชนน้ำแดงฯ ถูกจับไม่ได้รับหมายเรียกในข้อหาซ่องโจร ระบุตีตรานักปกป้องสิทธิที่ดินให้เป็นอาชญากร ห่วงนักปกป้องสิทธิผู้หญิงถูกดำเนินคดีจำนวนมาก
1 ก.ย. 2562 ที่ห้องประชุมจุมภฎ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายสหพันธ์เกษตกรภาคใต้และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร อาทิ Protection International, Focus Global South และ Pmove ร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ 'ปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง สร้างประชาธิปไตย และความเป็นธรรม' โดยมีวิทยากรเข้าร่วมดังนี้ นายอัครพล ทองพูน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำของสภาผู้แทนราษฎร, น.ส.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคิรทร์ ,น.ส.ปรานม สมวงศ์ Protection International (PI) ,นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move ,นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ,นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานคณะทำงาน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ,นายสมชาย ฝั่งชลจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่และนายอภิชาต ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
นายอัครพล กล่าวว่า การจัดสรรที่ดินไม่มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะจัดสรรแบ่งปันกันตามยศถาบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยามีที่ดินได้ถึงหมื่นไร่ ส่วนไพร่มี 25 ไร่ แต่ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินปัจจุบันกลับแย่ลงกว่าเดิม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถือครองมากกว่าหมื่นไร่ หรือ แสนไร่ โดยความเลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินในปี 2561 ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดย1 เปอร์เซ็นต์ของคนที่รวยที่สุดของประเทศ มีทรัพย์สินถึง 67 เปอร์เซ็นต์ ส่วน50 คนที่รวยที่สุดในไทยถือครองทรัพย์สิน 31 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
นายอัครพล กล่าวว่า ตัวเลขปี 2560 มีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวน 37 ล้านฉบับ รวมพื้นที่ 128 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แต่มีคนเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีที่ดิน และในจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีที่ดินนี้มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ดินทั้งหมด ส่วนคนไทยอีกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ต่อคน แสดงให้เห็นการกระจุกตัวของที่ดิน นอกจากนี้ยังพบว่ามีที่ดินที่มีเจ้าของยังถูกทิ้งร้างถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์อย่างมโหฬาร งานวิจัยในในปี 2544 ระบุว่า ประเทศไทยมีความเสียหายมาถึง 127,000ล้านบาทต่อปี
นายอัครพล กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนยากจน และเกษตรกรรายย่อยนั้น ถ้าเกษตรกรจะทำรายได้ให้พ้นจากความยากจนแต่ละครัวเรือนต้องมีเนื้อที่ 11 ไร่ แต่ในจำนวนพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ มีเกษตรเพียง 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ส่วนที่เหลือ 27 เปอร์เซ็นต์ต้องเช่าที่ดิน และอีก 28 เปอร์เซ็นต์ที่ดินติดจำนอง ขณะที่ที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มีถึง 44 เปอร์เซ็นต์
"มีงานวิจัยพบที่ศึกษาการทำนาของชาวนา พบว่า ชาวนาต้องเช่าที่ดิน 842 บาท ต่อไร่ คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด เมื่อรวมทุกอย่างแล้วใช้ต้นทุน 5,000 บาทต่อไร่ แต่มีรายได้อยู่ที่ 5,900 ต่อไร่ ได้กำไรสุทธิ 617 บาทต่อไร่ ซึ่งพื้นที่ถือครองเฉลี่ยของชาวนาหนึ่งคนคือ 22 ไร่ เท่ากับจะได้กำไร 13,900 บาทจากการทำนา แต่ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าเช่า จะมีกำไรสุทธิ 33,000 บาท ดังนั้นการที่เกษตรกรไทยไม่มีที่ดิน ไม่มีความมั่นคงที่ดินทำกิน ทำให้เกิดความเปราะบางของการมีกำไรลดลงมาก"นายอัครพลกล่าว
ด้าน น.ส.ปรานม สมวงศ์ กล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ขยายความเหลื่อมล้ำเสียเอง โดยเฉพาะกรณีนักสิทธิมนุษยชนผู้ปกป้องที่ดิน เช่น กรณีของชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนา ,ชุมชนซับหวายในอุทยานแห่งชาติไทรทอง หรือในพื้นที่บ่อแก้วที่กำลังถูกไล่รื้อ ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังพบว่าหลังการรัฐประหารในปี 2557 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดิน ถูกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาลงโทษ ซึ่งหมายความว่าในกระบวนการยุติธรรมของเราเชื่อว่าจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ แต่แนวโน้มที่ผ่านมา 5-6 ปี โดยทั่วไปผู้ที่โดนลงโทษคือนักสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินหรือทรัพยากร ทั้งที่พวกเขาทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิชุมชนมากกว่า 222 คนที่ถูกคุกคามจากการใช้กระบวนการยุติธรรม โดยสัดส่วนที่มากที่สุดคือ ผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสาน และภาคใต้มากกว่า 80 คน
"ในกรณีของชุมชนน้ำแดงพัฒนา ถูกกล่าวหาในข้อกล่าวหา "ซ่องโจร" ที่อัยการได้เพิ่มขึ้นมา ผลกระทบตามมาคือชาวบ้านจะรู้สึกถูกตีตรา ดูเป็นอาชญากร และมีผลต่อความชอบธรรมในการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิ นอกจากนี้การที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดง สุราษฎร์ธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนั้น ชาวบ้านไม่ได้รับหมายเรียกก่อนเข้ามาจับกุม เจ้าตัวไม่ได้รู้ล่วงหน้าว่าจะถูกจับ ต้องถูกขังคุก และถูกปฏิเสธจากกองทุนยุติธรรม เขามองชาวบ้านเป็นอะไร ทำผิดอะไรร้ายแรงหรือ เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน และวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่การสลายชุมชนในอนาคต ทำไมชาวบ้านถูกคดี ถูกกล่าวหาว่าเป็น ซ่องโจร เพราะการเคลื่อนไหวต่างๆพวกเขาเปิดเผยตัวมาโดยตลอด มีการเจรจา มีกลไกแก้ปัญหากับรัฐมาหลายชุด มีการดำเนินตามนโยบายรัฐมาโดยตลอด" น.ส.ปรานมกล่าว
น.ส.ปรานม กล่าวว่า มีคำถามกลับไปว่า กระบวนการยุติธรรม กับ กระบวนการตามกฎหมายแยกกันใช่หรือไม่ เพราะสิ่งที่ชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนาต้องเผชิญ คือ กระบวนการตามกฎหมาย ที่ไม่ได้สะท้อนถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่แท้จริง ทั้งที่ความยุติธรรมเป็นเจตนารมณ์ของ กฎหมายและควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้หลังจากจับกุมชาวบ้าน ศาลตั้งวงเงินประกันถึง 600,000 บาทต่อคน ทำให้ชาวบ้านไม่มีความสามารถหาเงินมาประกันตัวได้ ซึ่งความยุติธรรม ควรจะหมายถึงการยุติปัญหา ยุติความขัดแย้ง และเป็นการนำกฎหมาย นำอำนาจอธิปไตยอันเป็นสิทธิ และหน้าที่ และนำการปกครอง เพื่อหาข้อยุติของปัญหา ยุติความขัดแย้ง สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน
น.ส.ปรานม กล่าวว่า แนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ คือ กรอบแนวทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศถ้าดูจากปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ ว่าด้วยการปกป้องสิทธิฯ แม้นักปกป้องสิทธิต้องคำพิพากษาว่าทำผิดกฎหมายใดแล้วก็ตาม แต่ถ้าเขาปกป้องสิทธิมนุษยชน เขาถือว่าไม่สูญเสียความชอบธรรมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะกฎหมายระหว่างประเทศเข้าใจว่ากฎหมายในบางครั้งไม่ให้ความเป็นธรรม
"ไทยลงนามในกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีผลบังคับใช้สำหรับประเทศไทย 3 มกราคม ปี 2519 แต่ ในปี 2520 เป็นช่วงปลอมแปลงเอกสารนส.3ก. ที่ไม่ชอบธรรม กรณีชุมชนน้ำแดงเอง ในปี 2520 ได้มีนายทุนชาวสิงคโปร์ร่วมกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพียงไร่ละ 100-200 บาท มีการเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์ม จำนวน 2,545 ไร่ โดยออกเอกสารสิทธิบางส่วน และจดทะเบียนในนาม บริษัท จำกัด เป็นความย้อนแย้งกับสิ่งที่เราไปสัญญาในต่างประเทศ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ " น.ส.ปรานมกล่าว
น.ส.ปรานม กล่าวว่า ในกติกาที่เราไปสัญญาไว้ ประกอบด้วย การพูดถึงสวัสดิการของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย , มาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอต่อตนเองและครอบครัว อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ที่อาศัย ที่ดิน สภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้สิทธินี้เป็นจริง รวมถึงรัฐต้องรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดที่เป็นไปได้ ล่าสุดเดือนมิถุนายนนี้ ไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งหมายถึงเรามีพันธะกรณีที่จะต้องทำตามกติกา
น.ส.ปรานม กล่าวว่าในรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ เช่น สเปนในปี คศ. 1978 มีการบัญญัติถึงสิทธิการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมองว่าประเทศไทยก็ทำได้ด้วยการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่รัฐต้องตระหนักว่างานในบ้านเป็นงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานในบ้านเป็นงานต้องได้รับค่าตอบแทนตามมูลค่างานที่ทำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัวและลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ดินก็เป็นสวัสดิการได้ และที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆเข้าถึงได้ เช่น ต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่มีผู้หญิงถือครองไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ที่น่าตกใจในขณะที่ประชาชนไม่มีที่ทำกินกลับพบว่าในปี 2536 มีการให้เช่าที่ดินที่ ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 8,250 ไร่ 30 ปี เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเช่าในราคาไร่ละ 50 สตางค์ต่อปี หรือ 30 ปีในราคา 15 บาท ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้อยู่ถึงปี 2566 ที่จะครบกำหนดสัญญาเช่า ควรที่จะคืนที่ดินผืนนี้กลับมาให้ประชาชน ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ 128 ล้านไร่เป็นของเอกชน ที่สาธารณประโยชน์ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย 7.4 ล้านไร่ ที่ราชพัสดุ 12 ล้านไร่ ไม่มีใครกล้าตรวจสอบว่าเป็นที่ทหารเท่าไหร่ ซึ่งตอนที่ตนเป็นรองอธิบดีดีเอสไอพบว่าที่ราชพัสดุที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อย่างเดียว 5 แสนไร่เป็นของทหารบก กรณีปัญหาที่ดินล่าสุดเกิดกับชาวแสมสาร ที่อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ กว่า 6,000 คน โดยพื้นที่ดังกล่าวกำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ อีอีซี และนำไปให้ต่างชาติเช่าในระยาวถึง 99 ปี จนบางคนกลัวไม่มีที่อยู่อาศัย และทราบว่ามีคนสูงอายุเสียชีวิตจากความเครียดเรื่องดังกล่าวทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ส่วนตัวยืนยันว่าอะไรที่เป็นสมบัติของชาติควรเป็นสมบัติของประชาชน
“สิ่งแรกเราควรจะมาปฏิรูปกฎหมายที่ดินหรือไม่ เพราะใช้มานานแล้ว มาตรา 6 บอกว่าใครปล่อยที่ดินที่มีโฉนดว่างเปล่า 10 ปีต้องคืน ถ้าเป็นน.ส.3 ว่างเปล่า 5ปี แต่ตั้งแต่กฎหมายเกิดมาตั้งแต่ 2497 เคยใช้กับใครเลย ทั้งที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเต็มไปหมด กรมที่ดินไม่เคยทำการสำรวจ ดังนั้นมุมมองของรัฐกับนายทุน มองที่ดินเป็นสินทรัพย์ แต่ชาวบ้านมองที่ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร และคาดหวังว่าเมื่อกฎหมายภาษีที่ดินบังคับใช้จะมีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ วันนี้รัฐธรรมนูญบอกให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นว่ากฎหมายที่ดินอาจขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ”พ.ต.ท.ทวี กล่าว
พ.ต.ท.ทวี กล่าวว่า มีความห่วงใยกับคดีความของประชาชนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่ในชั้นศาล ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาแนวคิดนิรโทษกรรมกับคนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดยมีกระบวนการคัดกรอง เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นเหยื่อ เพราะรัฐออกประกาศทับที่ แม้ว่าในทางนิติศาสตร์จะดำเนินการไป แต่ในทางรัฐศาสตร์สามารถให้อัยการถอนฟ้องได้ในคดีอาญา แต่ในคดีแพ่งจะมีปัญหาเพราะถ้าศาลตัดสินแล้วไม่สามารถรื้อฟื้นได้ และเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีซึ่งทางออกจากตรงนี้ค่อนข้างยากมาก ทั้งนี้เห็นว่าการแก้ปัญหากับประชาชนไม่ต้องใช้เงิน แต่การแก้ปัญหาประชาชนคือการแก้กฎหมาย ปฏิรูปกฎหมายที่ดินและป่าไม้ทั้งหมด ให้อำนาจการอนุมัติกับชุมชนครึ่งหนึ่ง รัฐครึ่งหนึ่ง
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าวว่าประชาชนทั่วไปควรมีที่ดินสามส่วนด้วยกันเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น คือ ส่วนของที่อยู่อาศัย ส่วนของที่ดินทำกิน และส่วนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เช่น เก็บผัก ปล่อยวัวเลี้ยง ซึ่งถ้าไม่มีส่วนนี้ความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตก็จะหายไป ทั้งนี้มองว่าในเรื่องของที่ดินเอกชนทิ้งร้าง แยกไม่ออกจากการแย่งยึดที่ดินทำกิน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง คนที่แย่งยึดที่ดินทำกินควรโดนลงโทษ นอกจากนี้ในส่วนของที่ดินเอกชนทิ้งร้าง อีกทางหนึ่งเป็นการสะสมความมั่งคั่งรูปแบบหนึ่ง และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก นอกจากนี้ยังถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษยชาติรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลสะเทือนไปถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพราะไม่สามารถขจัดความยากจน หรือ ความอดยากได้
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่าเรื่องที่ดินที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมีหลายมาตรา เช่น รัฐพึงจัดกลไกให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำและสามารถแข่งขันได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินด้วยการปฏิรูปที่ดิน และจัดให้มีการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติที่ดี แต่อยู่ในแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งเห็นว่าควรจะย้ายไปในหมวดของหน้าที่ของรัฐมากกว่า
“เราคุยในพรรคเราเหมือนกันในพรรคเล็กๆ เราตั้งคำถามว่าที่ดินควรมีหลักประกันคล้ายกับหลักสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอยากจะเสนอว่ามีความจำเป็นในการเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยการแย่งยึดที่ดินทำกิน เพื่อระบุชี้ชัดว่า การถือครองที่ดินแบบไหนบ้างที่ถือว่าเป็นการแย่งยึดที่ดินทำกิน และประชาชนที่ถูกแย่งยึดที่ดินไป สามารถไปแย่งยึดที่ดินกลับคืนมาได้หรือไม่” นายเลิศศักดิ์กล่าว
ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ก.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.