งานวิจัยนศ.ป.เอก ม.ธุรกิจฯ ระบุเกษตรกรผู้ปลุกข้าวอินทรีย์ทั่วประเทศยังขาดทุนเฉลี่ยสามพันบาทต่อไร่ ผลผลิตยังน้อยจากที่เกษตรกรคาดหวัง ชี้เกษตรกรขาดการบริหารจัดการเก็บสะสมข้าวไว้มากเกินความจำเป็น แนะลดต้นทุนพึ่งพาปัจจัยท้องถิ่น ภาครัฐส่งนักวิชาการช่วยทำนาสาธิต ถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการให้เกษตรกร
รายงานข่าวแจ้งว่า จากงานวิจัยเรื่อง “ต้นทุน ผลตอบแทน และดัชนีการค้าขายข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองในประเทศไทย” ของนายปิยะวิทย์ ทิพรส นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า ในภาพรวมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16,280 บาทต่อไร่ ขณะที่ผลตอบแทนจากการขายพบว่า เมื่อจำแนกตามภาคเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีค่าผลผลิตใกล้เคียงกัน ในขณะที่ภาคเหนือมีผลผลิตมากกว่าภาคอื่น แต่ทั้ง 3 ภาคยังถือว่ามีผลผลิตน้อยตามความคาดหวังของเกษตรกรในพื้นที่ ได้ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด 7,350 กิโลกรัมต่อปี ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 517 กิโลกรัมต่อไร่ และคงเหลือข้าวเปลือกไว้จำหน่าย 5,555 กิโลกรัมต่อปี
ส่วนรายได้จากการจำหน่ายพบว่า มีรายได้ทั้งหมดเฉลี่ย 13,261 บาทต่อไร่ พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ยังประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ย 3,021 บาทต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป และเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าเกษตรกรในภาคใต้ประสบภาวะขาดทุนมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตามลำดับ แต่ในทางกลับกันพบว่า ค่าดัชนีการค้าขายข้าวอินทรีย์ในครัวเรือนเกษตรกรมีค่าเท่ากับร้อยละ 75.58 ซึ่งถือว่ามีระดับการค้าขายที่สูง แสดงว่าเกษตรกรเก็บสะสมข้าวเปลือกไว้ในครัวเรือนมากเกินไปแทนที่จะจำหน่ายออกไป
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า เกษตรกรควรลดต้นทุนการผลิตโดย พึ่งพาการใช้ปัจจัยการผลิตที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นให้มากที่สุด ดำเนินการทุกขั้นตอนการผลิตข้าวอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเองในครัวเรือนหรือในกลุ่มเกษตรกรภายในชุมชนเดียวกัน ลดการพึ่งพาการจ้างแรงงานคนและแรงงานเครื่องจักร รวมทั้งลดการพึ่งพาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดสำเร็จรูปซึ่งทั้งสองปัจจัยการผลิตมีค่าใช้จ่ายสูง
ขณะที่ภาครัฐควรกำหนดนโยบายแบ่งปันที่นาสาธิตการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ในชุมชนเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ร่วมกันที่ถูกต้องตามหลักสากล และทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองในครัวเรือนเป็นการลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่จำเป็นออกไป ภาครัฐหรือคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่ละท้องถิ่นควรจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน และภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับบริหารจัดการแก้ปัญหาเกษตรกรครอบครองข้าวเปลือกเก็บสะสมในครัวเรือนมากเกินไป เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าว เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนผลตอบแทนและดัชนีการค้าขายข้าวอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากกองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 250 คน จากทั้งหมด1,210 คนโดยใช้แผนการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่ เกษตรกรจากภาคเหนือ 17 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 208 ราย และภาคใต้ 25 ราย
โดยข้อมูลจากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ กรีนเนท(2560) ได้รายงานผลสำรวจพบว่า พื้นที่การเพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21 แสดงให้เห็นว่า กระแสของการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น การผลิตสินค้าเกษตรเคมีถูกปฏิเสธมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ
ที่มา : มติชน วันที่ 6 ก.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.