พื้นที่การทำการเกษตรใน จ.สุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติต่ำ กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านยางตอย อ.ศรีสัชนาลัย รวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ กระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการปรับปรุงบำรุงดินและนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนปลูก เพิ่มรายได้ และเป็นต้นแบบการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง
นายนิพนธ์ ตรีระแสง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เริ่มจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2560 โดยพื้นที่แรกคือ หมู่ที่ 2 บ้านยางตอย ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย มีสมาชิกกว่า 50 ราย ต่อมาในปี 2562 นี้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งคือ หมู่ที่ 10 บ้านปางสา มีสมาชิกกว่า 54 ราย ซึ่งเกษตรกรมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการลดใช้สารเคมี เนื่องจากต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีมีราคาที่สูง ทั้งยังมีผลกระทบอย่างมากต่อตัวเกษตรกรเอง กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงได้เข้ามาแนะนำให้เกษตรกรลดใช้สารเคมี และเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์บ้านยางตอย เป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร มีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานอยู่ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการทำการเกษตร ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่บ้านยางตอย ส่วนใหญ่ปลูกส้มสีทอง และที่ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านยางตอยแห่งนี้ ร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยให้สมาชิกนำเอาวัสดุเหลือใช้ในการทำเกษตร ในไร่นา และมูลสัตว์ มาฝากที่ธนาคาร โดยธนาคารจะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรมาเบิกถอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อวัสดุที่นำมาฝากของสมาชิกนั้นย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย สมาชิกก็สามารถมาเบิกปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพไปใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองได้
นอกจากรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองภายในกลุ่มแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในยามว่าง โดยการจ้างสมาชิกในกลุ่มนั้นมาผลิตปุ๋ยหมัก กรอกปุ๋ยหมัก ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และขายปุ๋ยหมักให้แก่เกษตรกรที่ไม่ใช่สมาชิกในราคาตันละ 5,000 บาท ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังสร้างเครือข่ายการผลิตปุ๋ยที่เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะและเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตรในพื้นที่ของเกษตรกรอีกด้วย
หากเกษตรกรมีความสนใจในเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ มีวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สามารถรวมกลุ่มตั้งแต่ 20 กว่ารายขึ้นไป ติดต่อมาทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ สร้างจิตสำนึกให้เกษตรกร ลด ละ เลิก ในการใช้สารเคมี ร่วมกันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่การทำเกษตรต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 21 พ.ค. 2561