“ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์” ผู้อำนวยการโครงการ ASEAN Gastronomy กลุ่มบริษัท เพอร์เฟค ลิงก์ ให้ข้อมูลว่า อาหารไม่เพียงแต่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นนั้น แต่ยังบรรจุไว้ซึ่งวัฒนธรรม อารยธรรม และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของแต่ละท้องถิ่น และในทุกเส้นทางการกินยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับอธิปไตยทางอาหาร ความหลากหลายของอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้พลังงาน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น อาหารจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน
ประโยชน์ของการท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างอาชีพ และความอยู่ดีกินดีให้กับท้องถิ่นอีกด้วย
โดยโมเดลของการสร้างเขตพื้นที่ท่องเที่ยวด้านอาหารการกินที่ประสบความสำเร็จมีอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปที่สามารถเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ กับอาหารประจำเมือง รวมถึงมีวัฒนธรรมที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวอาหารถิ่นเลื่องลือจนนักท่องเที่ยวต้องตามไปชิมถึงพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ท่องเที่ยวด้านอาหารการกินยังไม่เป็นที่แพร่หลายในทวีปเอเชียมากนัก
โดยประเทศไทยเองถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงอาหารเข้ากับพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว
ด้าน “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาหารไทยมีความโดดเด่นมากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางมาเพื่อชมรสชาติและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมาโดยตลอด
โดยรัฐบาลเองก็ได้มองเห็นถึงโอกาสที่การท่องเที่ยวเชิงอาหารว่าจะสามารถช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ให้กระจายตัวออกไปในพื้นที่ชุมชนเล็ก ๆ มากขึ้น
ไทยจึงได้เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานตามปฏิญญา ASEAN Gastronomy Tourism สร้างอาเซียนให้เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโอกาสในการอยู่ดีกินดีผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร
ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่นเตรียมตัวให้พร้อมและร่วมกันสร้างวงจรการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ยั่งยืนขึ้นมา ซึ่งมีงาน ASEAN Gastronomy Tourism Fair & Forum ที่ได้จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นก้าวแรก
นอกจากการกระจายความรู้แล้วหลังจากนี้รัฐบาลจะสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เกิดจากชุมชนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น โดยประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ นโยบายช่วยเหลือด้านที่ดินทำกิน นโยบายด้านการเงินการคลัง และนโยบายด้านการตลาด
โดยแต่ละนโยบายจะช่วยให้ชุมชนก้าวข้ามปัญหาการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรแบบเดิมที่ต้องพึ่งทั้งสารเคมีและพ่อค้าคนกลางเข้าสู่การสร้างความอยู่ดีกินดีที่ทั่วถึง และสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เม.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.