ปัจจุบันเทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมืองเริ่มเปลี่ยนไปบริโภคพืชผักมากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อ และได้รับความรู้เกี่ยวกับสินค้าออร์แกนิกและสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากสื่อต่างๆ ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกชนิดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร้านเลมอนฟาร์ม (Lemon Farm) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่นำระบบ PGS เข้ามาปรับใช้ในการเพาะปลูก ณ อำเภอด่านช้าง และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “เลมอนฟาร์ม” หรือร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ก่อตั้งมาเมื่อปี 2542 ด้วยโมเดลกิจการเพื่อสังคมในเชิงธุรกิจ และเข้าไปทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับกลุ่มเกษตรกร เริ่มตั้งแต่ได้จัดส่งทีมงานลงพื้นที่ไปชักชวนเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เพื่อผลิตเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานโครงการ “Lemon Farm Organic PGS” โดยโครงการนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2558 มีพื้นที่ในอำเภออู่ทอง และอำเภอด่านช้าง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน มีสมาชิก 31 ราย พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่ และกลุ่มรักษ์ด่านช้าง สมาชิก 6 ราย พื้นที่อินทรีย์ 30 ไร่
สอดคล้องกับ นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการเลมอนฟาร์ม เปิดเผยว่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS ในการสอนความรู้ สร้างความเข้มแข็งของระบบกลุ่มด้วยการแลกเปลี่ยนปัญหา และร่วมกันพัฒนา ภายใต้ความซื่อตรงและโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยโครงการ PGS ถือว่าเป็นช่องทางให้เกษตรกรได้พัฒนากลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ เพื่อปลูกพืชผักผลไม้ที่สามารถแปรรูปเป็นอาหารได้
ล่าสุด เลมอน ฟาร์ม ได้พัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาห่วงโซ่อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อส่งเสริมตลาด และการจัดการผลผลิต ทำเกษตรอินทรีย์ได้ทุกฤดูกาล โดยทีมงานของเลมอนฟาร์มจะทำหน้าที่ดูแลและรับประกันว่า ผู้บริโภคจะได้รับผลผลิตอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม เลมอนฟาร์มถือว่าเป็นองค์กรขนาดเล็กที่อยู่ท่ามกลางสมรภูมิค้าปลีกรายใหญ่ ความท้าทายในการทำธุรกิจให้อยู่รอดไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น “เลมอนฟาร์ม” จึงมุ่งพัฒนาความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร ในการดูแลผลผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตอาหารอินทรีย์เพื่อสุขภาพ มีระบบตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน รับประกันคุณภาพ มีการประกันราคา และรับซื้อตลอดทั้งปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ตลอดทั้งปี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 เม.ย. 2562