“วิรไท” ชี้ปัญหาหนักเกษตรกรไทยหนี้สินพอกพูน ผลผลิตไม่เพิ่ม อายุมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่นโยบายมหภาคเพียงอย่างเดียวช่วยแก้ไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม ช่วยกันทุกภาคส่วน และบริหารจัดการปัญหาแบบเอาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง ด้าน “ปรเมธี” ห่วงนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนน้อย มุ่งแต่เรื่องการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนเพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ ได้จัดงานแถลงข่าว “เก้าปี ก้าวหน้า” พร้อมกับจัดเสวนา “ประเทศไทยตามแนวพระราชดำริ” โดยมีนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISDA
โดยนายวิรไท กล่าวว่า ธปท.ได้บริหารเศรษฐกิจมหภาค ตามแนวพระราชดำริ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลัก 3 ประเด็น คือ การมีเหตุมีผล พอประมาณ และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น กรณีค่าเงินบาทแข็ง ผู้ส่งออกไม่ชอบ ผู้นำเข้าชอบ ธปท.จึงต้องดูความสมเหตุสมผลที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้อะไร และประเทศได้อะไร ส่วนหลักที่สองคือ ความพอประมาณ จะเห็นได้ว่าไม่มีเศรษฐกิจประเทศใดที่โตต่อเนื่องไม่หยุด พอขึ้นไประยะหนึ่งก็จะชะลอลง ก็ต้องมาดูการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ฉะนั้นการไม่สุดโต่งเกินไป ยึดหลักพอประมาณ จะทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและนำไปสู่ศักยภาพที่ดีขึ้น ส่วนหลักที่สามคือการสร้างภูมิคุ้มกัน โจทย์ของเศรษฐกิจมหภาคคือ จะทำอย่างไรให้ผลิตภาพของคนไทยดีขึ้น คือ คนไทยต้องเก่งขึ้น ทำงานเท่าเดิมแต่มีผลผลิตสูงขึ้น
“เวลาพูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง คนชอบคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของเกษตรกร ไม่เข้าใจบ้าง หรือคิดว่าทำให้แค่พอมี พอกิน แต่ในระดับสากล กำลังมีการคิดว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนาในยุคนี้ไม่ไปเบียดเบียนคนรุ่นต่อไป ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืนมีการเชื่อมโยงกันมาก เป็นกระแสหลักที่โลกกำลังมองและตอบโจทย์ความยั่งยืน และเมืองไทยมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน โดยทัศนคติที่ดีที่สุดคือ พอเพียงที่ใจ”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเงิน หากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตก็อัดฉีดเงินเข้าไปมากๆ แต่สิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น เช่น ปัญหาใหญ่ที่ไทยประสบอยู่ คือ หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น โดย 60% เป็นสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ในจำนวนนั้น 20% ของหนี้สินครัวเรือนเป็นหนี้เสีย และพบว่า ผู้ที่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค คือเกษตรกร ที่มีพฤติกรรมกู้ต่อเนื่อง ไม่คืนเงินต้น คืนเฉพาะดอกเบี้ย ส่งผลให้หนี้สินพอกพูน อีกทั้งผลผลิตไม่เพิ่ม อายุเพิ่มขึ้น กลายเป็นโจทย์ที่ไม่มีทางแก้ได้ ส่วนการพักหนี้ให้เกษตรกร เป็นแค่การยืดเวลาออกไป การแก้ปัญหาต้องมองแบบองค์รวม เอาประชาชนเป็นที่ตั้งแบบที่สถาบันฯปิดทองทำอยู่
“ยอมรับว่าไม่มีนโยบายมหภาคใดที่จะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ เพราะประเทศไทยมีนโยบายบริหารประเทศแบบท็อปดาวน์หรือสั่งการจากผู้กำหนดนโยบายหรือจากรัฐบาลลงไป โดยไม่ดูปัญหาของประชาชน ไม่มีนโยบายการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ไหนแก้หนี้สินเกษตรกรได้โดยลำพัง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันโดยเริ่มต้นจากตัวเอง ประชาชน เกษตรกร หน่วยงานรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการปัญหาแบบเอาประชาชนเกษตรกรเป็นตัวตั้ง”
นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายมหภาคค่อนข้างที่จะไม่ยืดหยุ่น จึงอยากเห็นนโยบายมหภาคที่เมื่อปรับหรือนำมาปฏิบัติในระดับจุลภาคสามารถปรับให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ได้ แต่พอคุยกับคนระดับนโยบาย บอกว่าหากไม่กำหนดตายตัวจะมีการรั่วไหลในพื้นที่ จึงต้องแก้ปัญหาทั้ง 2 ทาง คือ ทั้งบนลงล่างและล่างขึ้นบน ส่วนการประเมินผลการทำงานของสถาบันฯปิดทองที่ดูเฉพาะเรื่องผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนนั้น จริงๆสามารถนำเครื่องมือของ GISDA มาประเมินความสำเร็จเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ด้านนายปรเมธี กล่าวว่า เป็นห่วงนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนน้อย ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนเพียงอย่างเดียว หลังจากเลือกตั้งไปแล้วจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายกับประเทศไทยในอนาคตที่อยากจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ต้องยอมรับว่า มิติของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่องปีละประมาณ 4% แต่ในแง่สังคมยังมีปัญหา ไทยเริ่มเข้าสังคมสูงวัย ในปี 2564 จะมีจำนวนประชากรสูงวัยประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เงินออมไม่เพียงพอ สำหรับการดูแลเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาระยะยาว เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายให้รัฐบาลในการพัฒนาประเทศ”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันฯ นับจากปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ครบรอบ 9 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด เริ่มจากพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดน่าน ขยายไปยัง อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ใช้งบประมาณด้านระบบน้ำและส่งเสริมอาชีพรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 2,308 ล้านบาท คิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 508,818 บาท หรือมีผลตอบแทน 2.4 เท่าของการลงทุน.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 1 มี.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.