เกษตรฯสั่งสำรวจเจ้าสัวตั้งบริษัททำนา-ให้เช่าที่ทำเกษตรหวั่นกระทบแผนปรับโครงสร้างเกษตรฉุดราคาร่วง-ชาวนาแห่ปลูกข้าวเกินแผนแล้ว1ล้านไร่
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรใหม่อีกครั้ง หลังภาษีที่ดินฉบับใหม่บังคับใช้ ทำให้เจ้าของที่ดิน เจ้าสัว ต่างจัดตั้งบริษัททำการเกษตรให้พื้นที่เพื่อเช่า จะไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษีทีดิน ที่ไม่ทำประโยชน์ กระทรวงเกษตรฯสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรครั้งนี้ เพราะกังวลว่าจะกระทบกับแผนการปฏิรูปภาคผลิตด้านการเกษตร ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้า ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต เพราะกังวลว่า หากมีการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลกระทบจะเกิดกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการผลิตภาคเกษตร
“ปีก่อนหน้า เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ลงสำรวจพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินการทุกปี และเมื่อมีเรื่องของภาษีที่ดิน กระทรวงเกษตรฯก็กังวลว่าเจ้าสัว หรือผู้ถือครองที่ดินจะเลี่ยงภาษี ที่จะต้องเสียหากทิ้งที่ดินว่างเปล่าเช่นที่เคยทำมา หันมาทำการเกษตร ปลูกกล้วย ปลูกอ้อย ปลูกแบบทิ้งขว้าง ไม่หวังผลผลิต แต่หากมีการตั้งบริษัท เพื่อทำการเกษตร หรือให้เช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร เจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่คงต้องสำรวจให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ผลผลิตที่ออกมากระทบราคาที่เกษตรกรจะขายได้ และสัดส่วนของพื้นที่ทำการเกษตรอาจเปลี่ยนแปลงไปจากแผนการปฏิรูปที่กระทรวงเกษตรกำลังดำเนินการ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯที่มี นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯเป็นประธาน พบว่าขณะนี้ได้ประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร ในเดือนก.พ.2562 พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะมีการปลูกข้าวต่อเนื่อง ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ไม่สนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวต่อเนื่อง เพื่อควบคุมผลผลิตข้าวและส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อป้องกันข้าวล้นตลาดส่งผลให้ราคาตกต่ำ
โดยพื้นที่ปลูกข้าวนาปีมีพื้นที่ 1.87 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ 1.86 ล้านไร่ ชาวนาเตรียมจะปลูกข้าวใหม่อีกรอบแล้ว ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ขณะนี้มีการปลูกเกินแผนแล้วจำนวน 1.03 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตชลประทาน 24 จังหวัด นอกเขตชลประทาน 4 จังหวัด
ดังนั้นในที่ประชุม ได้เสนอให้ออกประกาศว่าชาวนาที่ปลูกข้าวหลัง 15 ก.พ.2562 จะไม่ให้การช่วยเหลือหากเกิดความเสียหายขึ้น เพราะขณะนี้ มีการประกาศเขตภัยแล้งไปแล้ว 1 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด มี 3 อำเภอ คืออำเภอสุวรรณภูมิ อ.เกษตรพิสัย และอำเภอสรวง เนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ดังนั้นการทำการเกษตรหรือหากชาวนาดิ้นที่จะปลูกข้าว อาจได้รับผลกระทบน้ำไม่เพียงพอ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 ก.พ. 2562