“ยักษ์”ไฟลนก้น จี้ตั้งคณะทำงานรับสังคมสูงวัย ใน 1 สัปดาห์ ดันเกษตรกรวัยชราเจ้าของที่ส.ป.ก. คืนที่ให้ส.ป.ได้ ชดเชยในอัตรา 60% ของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท/ไร่ นำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายใหม่ เช่าระยะยาว 30-40 ปี
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่จะทวีความรุนแรง ส่งผลให้ลูกหลายเกษตรกรไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรกรรม โดย 10 ปีข้างหน้า จะมีเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะถือครองพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งหมดประมาณ 30 ล้านไร่ จำนวนเกษตรกรทั้งหมดประมาณ 1.85 ล้านคน ของที่ดิน ส.ป.ก.ที่จัดสรรให้เกษตรกรทั้งหมด 39 ล้านไร่
และจะเหลือเกษตรกรหรือลูกหลานเกษตรกรที่ต้องการทำการเกษตรเพียง 17% หรือประมาณ 1 ล้านคน จากปัจจุบัน เกษตรกรที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ถือครองที่ดินส.ป.ก.จำนวน 27 ล้านไร่ ถือว่าสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก ถือว่าเป็นอันตรายมากกับอาชีพเกษตรกรในเมืองไทย
“สั่งการให้เลขาส.ป.ก.ไปตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ขึ้นมา เพื่อศึกษาวิธีการนำน้ำเข้าที่ส.ป.ก.ให้ครบ 100% เมื่อเกษตรกรสูงวัยจะดำเนินการอย่างไรในการปรับเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งคณะกรรมการดำนินการ เพื่อไม่ให้มีการซะล้างหน้าดิน คณะกรรมการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์จากที่ส.ป.ก.”
โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจนี้จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงของอายุเกษตรกร และยกระดับที่ส.ป.ก.ให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจนี้ต้องเร่งตั้งให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเดินหน้าการปฏิรูปที่ส.ป.ก.รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก. โดยสำนักวิชาการและแผนงาน ร่วมกับนักวิชาการได้เสนอ แผนการพัฒนาการใช้ที่ดินส.ป.ก. ต่อที่ประชุม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการ การวางแผนการใช้ที่ดิน ในเขต ส.ป.ก. และมีการจำแนกพื้นที่ที่เหมาะสมทำการเกษตรได้ดังนี้ คือ
พื้นที่ส.ป.ก.ที่เหมาะสมทำการเกษตรทั้งหมด 31.54 ล้านไร่ เหมาะสมมากเพียง 7% เหมาะสมปานกลาง 59% เหมาะสมน้อย 19% และไม่เหมาะสมเลย 5.07% โดย การใช้ประโยชน์ในที่ดิน เมื่อเกษตรกรน้อยลง อายุมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนไปทำการเกาตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกล ทำการเกษตรเพื่อตอบสนองชุมชนให้มากขึ้น และต้องค้นหาศักยภาพของที่ดินให้พบเพราะบางพื้นที่เหมาะสมกับการทำการท่องเที่ยว
เมื่อเกษตรกรมีอายุมากขึ้น ลูกหลานไม่มีความประสงค์ที่จะทำการเกษตร สามารถคืนที่ดินให้กับส.ป.ก.ได้ ตามมติ คปก.เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2557 โดย ส.ป.ก.จะจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 60% ของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท/ไร่ โดยใช้งบประมาณ จากกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาชดเชย เมื่อได้ที่ดินคืนมาแล้ว ส.ป.ก.ต้องดำเนินการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ เป็นทายาทหรือไม่ใช่ทายาทก็ได้
สำหรับรูปแบบการจัดสรร อาจเป็นการเช่าระยะยาว 30-40 ปี เกษตรกรรายใหม่ ต้องมีคุณสมบัติตามกฏหมายกำหนด เกษตรกรต้องชำระค่าเช่าทุกปี ที่ดินที่ได้รับจัดสรร สามารถขายสิทธิการเช่าได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข เช่น ต้องทำการเกษตรอย่างน้อย 5 ปี และชำระค่าเช่าที่ดินให้ครบ โดยส.ป.ก.จะเป็นหน่วยงานรับเปลี่ยนสิทธิในการเช่า
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 7 ก.พ. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.