เครือข่ายภาคประชาชน แถลง 7 ข้อเสนอลดเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา-สุขภาพ-ที่ดิน-ประกันสังคม-บำนาญ-สิทธิพหุวัฒนธรรม-ปฏิรูปภาษี 'นิมิตร์' ชี้ รวมกองทุนหลักประกันสุขภาพ ป้องกันงบถูกดูดเข้าระบบรักษาข้าราชการ ทำการเมืองภาคประชาชนทุกมิติ 'เดชรัต' แจงข้อมูลไทยเผชิญความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น เด็กในครอบครัวยากจนจะยากจนต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่
18 ธ.ค. 2561 วานนี้ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เครือข่าย WE FAIR เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ร่วมกับ โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคม และสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.) จัดเวที เวที We fair Welfare : เราสนับสนุนรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อแถลงข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ บำนาญ ที่ดิน ประกันสังคม สังคมพหุวัฒนธรรม การศึกษา พร้อมข้อเสนอรัฐสวัสดิการต่อพรรคการเมือง
จากซ้ายไปขวา นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, นิมิตร์ เทียนอุดม, นุชนารถ แท่นทอง, สุจิน รุ่งสว่าง, เจษฎา แต้สมบัติ, เดชรัต สุขกำเนิด,
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.) กล่าวว่า ปี 2558 ความเหลื่อมล้ำไทยอยู่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย ปัจจุบันยังถกเถียงมาไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ แต่ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญของไทยคือความเหลื่อมล้ำทางโอกาส คนยากจนรู้สึกเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานและสวัสดิการ 4-5 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาล คสช. ชัดเจนว่ารัฐได้ควบคุมให้สวัสดิการนั้นเล็กลงเรื่อยๆ รัฐบาลพูดถึงเรื่องการร่วมจ่ายของระบบประกันสุขภาพมากขึ้น นโยบายที่รัฐทำสวนทางกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำแก้ไม่ได้ด้วยสังคมสงเคราะห์หรือบัตรรัฐสวัสดิการ
นิติรัตน์ยกตัวอย่าง นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของคนยากจนในเรื่องการรักษาพยาบาลนั้นน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางรัฐสวัสดิการ
นิติรัตน์กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้รวบรวบข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและสุขภาวะ แบ่งเป็น 7 ประเด็น ดังนี้
1.ด้านการศึกษา เงินสนับสนุนแต่ละช่วงวัยตามเช่นความยากจน ได้แก่ เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี จำนวน 3,000 บาท/เดือน เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้าช่วงเรียนมหาวิทยาลัย หรืออนุปริญญา/ปวส. จำนวน 3,000 บาท/เดือน และสถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลางงบประมาณรายหัวประชากร รายละ 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ เงินสนับสนุนสร้างการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรที่รัฐกำหนดขึ้นตามช่วงวัยของประชากร
2.ด้านสุขภาพ เสนอให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว แต่มีคุณภาพสูง โดยงบประมาณด้านสุขภาพ เมื่อคิดตามรายหัวประชากรจะเท่ากับ 8,000-8,500 บาท/คน/ปี
3.เรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดิน อาทิ การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 2 ต่อปี ตำบลควรมีการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนตำบลละ 1,000 ห้อง เกษตรกรควรได้ถือครองที่ดิน 15 ไร่/ครอบครัว การกระจายการถือครองที่ดินด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน และการปฏิรูปที่ดิน
4.เรื่องงาน, รายได้, ประกันสังคม โดยเสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภคเป็น 500 บาท/วัน และให้ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้ารวมถึงแรงงานนอกระบบด้วย เสนอขยายเพดานเงินเดือนประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท และให้ทุกเพศสภาพลาคลอดได้ 180 วัน
5.ระบบบำนาญแห่งชาติ โดยวาระสำคัญคือ เปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า เป็น 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ไม่ให้ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ
6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม และประชากรกลุ่มเฉพาะ เสนอให้เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการจาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ คนพิการควรมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ ด้านประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและการรักษาพยาบาล ครบคลุมถึงกระบวนการข้ามเพศให้ถือเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ยกเลิกแบบเรียนที่สอนให้เกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ ลักษณะทางกายภาพต่างๆ สร้างพิดพันห้องสมุด สถานที่การเรียนรู้ สวนสาธารณะ
7. การปฏิรูปภาษีและจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ โดยจากการคำนวณรวมแล้วการทำรัฐสวัสดิการต้องใช้งบประมาณกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมี โดยคำนวณแล้วหากยกเลิกการลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 240,000 ล้านบาท หากเก็บภาษีจากตลาดหุ้นจะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท หากยกเลิกการลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ กองทุนแอลทีเอฟ จะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท หากเก็บภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ โดยเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี จะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท หากเก็บภาษีมรดก จะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท หากภาษีอัตราก้าวหน้าจ่ายสูงสุด 45% จะได้งบเพิ่มอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ปฏิรูประบบข้าราชการและปรับลดงบประมาณกลาโหม 70% ได้งบเพิ่มอีกประมาณ 180,000 ล้านบาท ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ได้งบเพิ่มอีกประมาณ 220,000 ล้านบาท ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้งบเพิ่มอีกประมาณ 63,000 ล้านบาท บัตรสวัสดิการและโครงการประชารัฐ 100,000 ล้านบาท ตลอดจนทุกคนควรยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการ แม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์ก็ตาม
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงเพิ่มว่า ส่วนงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทที่คำนวณนั้น ไม่ต้องมีเท่านี้ในวันแรกที่เริ่มรัฐสวัสดิการ แต่ละเรื่องมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้ แต่สิ่งที่เสนอคือเป้าหมายปลายทาง
นิติรัตน์ได้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวเวิร์คพอยท์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางระบุว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มต้นเมื่อเดือน ต.ค. 2560 ถึงช่วงปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ร้านธงฟ้าประชารัฐไปแล้วทั้งสิ้น 41,318 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ในหน้าโครงการธงฟ้าประชารัฐ พบว่าหากนับเฉพาะซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งให้ร้านธงฟ้าประชารัฐนำไปจำหน่ายต่อ มีทั้งสิ้นเพียง 62 บริษัท/องค์กร เท่านั้น
และจากการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทเหล่านี้ จากฐานข้อมูลคลังข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะ พบว่ามีซัพพลายเออร์ของโครงการธงฟ้าประชารัฐถึง 30 แห่งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท/ปี และในจำนวนนี้มีถึง 10 บริษัทที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ซัพพลายเออร์ในโครงการนี้จำนวนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ อาจเป็นเพราะเงื่อนไขการคัดเลือกซัพพลายเออร์ของโครงการ ที่กำหนดว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้อง "มีระบบการจำหน่ายและจัดส่งสินค้าทั่วประเทศ" และต้อง "กระจายสินค้าราคาประหยัดไปยังร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่กำหนด ... ให้มีสินค้าวางจำหน่ายครอบคลุมทุกร้านค้า ทุกตำบล ทุกจังหวัดทั่วประเทศ" ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะทำได้
นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้เสนอปัญหาว่าถ้าไม่มีการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพจะเกิดอะไรขึ้น
โดยประการแรก นิมิตร์อธิบายว่า เงินในระบบหลักประกันสุขภาพจะถูกดูดไปใช้ในระบบการรักษาของข้าราชการ โดยจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รัฐไม่เคยคุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้เลย เริ่มจาก 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 80,000 ล้านบาท คุมไม่ได้เพราะเป็นการจ่ายแบบปลายเปิด
ประการที่สอง ต่อไปนี้คนที่ได้รับการรักษาฟรีคือคนจนเท่านั้น เนื่องจากจะเห็น พล.อ. ประยุทธ์พูดตลอดเวลาว่าโรงพยาบาลเจ๊ง งบไม่พอ เป็นภาระ ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญก็ยังเขียนว่ารัฐจะดูแลรักษาฟรีเฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้น คนชั้นกลางก็มีโอกาสที่ต้องร่วมจ่าย
ประการที่สาม บริษัทประกันภัยเอกชนจะเข้ามามีส่วนในสิทธิประโยชน์เสริมของกองทุนหลักประกันสุขภาพ และมองว่าเป็นกำไรชิ้นโตที่บริษัทจะได้จากระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากมีการนำเสนอว่าดึงบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในส่วนของสิทธิประโยชน์เสริมของกองทุน
"ทิศทางแบบนี้มาแน่ๆ ถ้าเรายังปล่อยให้รัฐราชการใหญ่โตมหาศาล และรัฐราชการเป็นผู้รับใช้ที่ดีให้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลักคิดของทางเครือข่ายคือเราเชื่อการมีหลักประกันด้านรายได้ทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตาย เราต้องเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานให้ได้ก่อน" นิมิตร์กล่าว
นิมิตร์ยังเสนอว่า หากจะให้เป็นรัฐสวัสดิการได้ การเมืองภาคประชาชนต้องเขยิบเข้าไปสู่รัฐสภาและประสานไปกับการเมืองท้องถนน ไม่สามารถวางใจนักการเมืองที่มาจากนายทุน ภาคประชาชนต้องเปลี่ยนแปลง ทำการเมืองภาคประชาชนในทุกมิติ ทุกระดับ นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดคนทั้งประเทศ ว่าประชาชนคือเจ้าของภาษี ทำให้รัฐมีรายได้ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนวางแผนบริหารจัดการการใช้ภาษีมากขึ้น
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยกสถิติที่สำรวจพบว่า โอกาสที่พ่อแม่ที่มีฐานะยากจนจะได้อยู่กับลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวยถึง 2-3 เท่า นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอื่นๆตามมา นอกจากนี้ผลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า คนไทย 50% ที่เกิดในครอบครัวรายได้น้อยมีโอกาสอย่างมากที่จะอยู่ในความยากจนต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เรากำลังเผชิญการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น ธนาคารโลกเห็นว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ากำลังพูดถึงความเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจและสังคม เขาต้องการให้รุ่นลูกมีสิทธิกำหนดเองทั้งด้านการศึกษาและรายได้ แต่ถ้าเราไม่แก้ตอนนี้ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
เดชรัตยกตัวอย่างโครงการที่มีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น เรื่องเงินช่วยเหลือเด็กในครอบครัวยากจน 600/คน/เดือน ในรัฐบาล คสช. มีปัญหาเรื่องการตกหล่นกว่า 30% แต่จากการสำรวจก็พบว่าครอบครัวที่ได้รับเงินก็ทำให้แม่ให้นมลูกได้นานขึ้น ลูกมีพัฒนาการดีขึ้น ภาวะขาดสารอาหารน้อยลงเท่าตัว
เดชรัตกล่าวต่อว่า ถ้าดูเชิงตัวเลข คนชนชั้นกลางมีโอกาสการเข้าถึง ทั้งการศึกษา การทำงาน ดีกว่าคนที่ยากจน แต่ต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายแพงที่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครคุม ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ดังนั้นลูกของชนชั้นกลางเองก็อาจจบมหาวิทยาลัยแต่เริ่มต้นการทำงานพร้อบกับการเป็นหนี้ กยศ. ซึ่งเราต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ได้
"ทุกคนได้รับสวัสดิการตามมาตรฐานขั้นต่ำ ไม่ว่าจะคนจน คนรวย คนชั้นกลาง ได้เท่ากันหมด เราก็สร้างประเทศนี้ให้มีความเสมอภาคขึ้นได้" เดชรัตกล่าว
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดิน ไม่มีการโอกาสเปิดให้คนยากจนเข้าถึง ที่ดินถูกมองเป็นสินค้า โครงการนโยบายรัฐเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นก็ได้เพียงเฉพาะกลุ่ม บางกลุ่มก็เข้าไม่ถึง เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับคนจนในสลัม หากรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นทั้งคนรายได้น้อยและคนชนชั้นกลางก็จะสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าบัตรคนจนเป็นปัญหามาก คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินก็ด่าคนจนว่าพวกแบมือขอ แต่คนจนจริงๆ ไม่ได้ก็มีมาก ระบบการคัดกรองไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าเป็นรัฐสวัสดิการที่ได้ถ้วนหน้าก็จะไม่มีปัญหานี้
สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงปัญหาแรงงานนอกระบบว่า มีรายได้ไม่แน่นอน กระทบต่อการเลี้ยงดูครอบครัว ลูกก็อาจจะไม่ได้เรียนถึงปริญญาตรี ถ้าไม่มีสวัสดิการทางด้านการศึกษา อยากให้ลูกเรียนสูงเท่าคนอื่น ไม่ต้องไปกู้หนี้มา พอจบก็เป็นหนี้อีก ทั้งที่การลงทุนทางปัญญากับมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อไม่มีรัฐสวัสดิการก็ได้รับความยากลำบาก ตนเป็นคนทำงาน เสียภาษี ก็อยากให้เอาภาษีที่จ่ายไปจัดเป็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นรัฐบาลที่จะเข้ามาเปลี่ยนแนวคิดจากการให้เงินสงเคราะห์เป็นรัฐสวัสดิการ
"ตอนนี้ประกันสังคมมาตรา 40 มีสามช่องทาง ซึ่งกดทับกันเอง เพราะสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน เหมือนยังแบ่งว่าใครจนใครรวยในมาตราเดียวกัน" สุจินกล่าว
เจษฎา แต้สมบัติ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ให้ข้อมูลว่า องค์กรทรานเจนเดอร์ยุโรปได้เก็บสถิติพบว่าทั่วโลกมีคนข้ามเพศที่ถูกสังหารไปจำนวน 2609 คน ไทยมี 21 คนที่ถูกฆ่าสังหารด้วยเหตุความเกลียดชัง และคนที่ยังอยู่ก็ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานภายใต้การรับรองทางด้านเพศได้อย่างครบถ้วน
เจษฎากล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐมักมองคนเป็นอัตลักษณ์เดียว การมองคนแบบนี้ทำให้ไม่เห็นถึงความหลากหลายอย่างแท้จริง ทั้งที่เราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งความหลากหลายด้านเพศ เชื้อชาติ อาชีพ ความพิการ ทำให้ปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึง ตนอยากเสนอให้มีสวัสดิการในกระบวนการข้ามเพศโดยการศัลยกรรมต่างๆ ก็อยากให้รัฐบาลส่งเสริม เป็นสวัสดิการไม่ใช่การสงเคราะห์
"ลองจินตนาการถ้าคุณเป็นกระเทยพิการที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และมีอาชีพพนักงานบริการ คุณจะเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างไร" เจษฎากล่าว เธอกล่าวต่อว่า "สุดท้ายเราไม่อยากได้ยินคำว่า แปลงเพศเอื้ออาทร หรือมันเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน เพราะการเข้าถึงสิทธิและบริการเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีพึงได้"
นิติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทางเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมยื่นหนังสือชุดข้อเสนอ 7 ประเด็นดังกล่าวต่อพรรคการเมือง ณ ที่ทำการพรรค ระหว่างวันที่ 18-21 ธ.ค.61 ดังนี้ วันที่ 18 ธ.ค. พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย วันที่ 19 ธ.ค. พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย และพรรคภูมิใจไทย วันที่ 20 ธ.ค. พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคกรีน และวันที่ 21 ธ.ค. พรรคประชาธิปัตย์
เครือข่ายเข้ายื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มสนับสนุนการทำรัฐสวัสดิการเท่านั้น โดยขณะนี้ยังรอการตอบรับจากพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเกรียนอยู่
เดชรัต กล่าวว่า การติดตามผลภายหลังยื่นข้อเสนอบางส่วนเริ่มเห็นชัดแล้ว อาทิ เรื่องเด็กเล็ก เนื่องจากเครือข่ายเคยเข้าร่วมเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. โดยมีพรรคการเมือง 8 พรรคร่วมด้วย ซึ่งทุกพรรคมีแนวโน้มในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงสวัสดิการเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม เครือข่ายอาจติดตามผลเฉพาะประเด็นใหญ่ เช่น เด็กเล็ก การศึกษา เรื่องบำนาญ หากติดตามในทุกเรื่อง ทางพรรคการเมืองคงลำบากใจ
"พรรคไหนที่มีแนวโน้มจะเห็นด้วย หลังปีใหม่เราจะชวนมาคุยกัน ทั้งนี้ เราไม่เคยมีแนวคิดในรูปแบบนี้ อาจมีคล้ายข้อตกลงร่วม ฉะนั้น เมื่อเข้าสู่รัฐสภาแล้ว เขาจะเดินหน้าแนวทางนี้อย่างไรก็คงชวนมาคุยกัน ส่วนแนวโน้มการเห็นด้วยอาจเป็นแค่ 2-3 พรรค แต่ร่วมมืออย่างจริงจัง มีคณะทำงานที่เข้าไปทำงานในสภา ซึ่งเราสามารถติดตามตัวแทนร่วมของพรรคเหล่านี้ได้ คิดว่าเป็นนิมิตหมายใหม่" เดชรัตกล่าว
ที่มา : ประชาไท วันที่ 18 ธ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.