ข่าวฮิตข่าวหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีการหยิบยกมาพูดถึงและมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางได้แก่ข่าวว่าด้วย “หนี้สินครัวเรือน” ของคนไทย
สภาพัฒน์เป็นฝ่ายจุดพลุขึ้นมาก่อนด้วยการนำเสนอในเอกสารทางวิชาการราย 3 เดือน ของสำนักงาน “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2561” ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าล่าสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าไตรมาสที่แล้ว ซึ่งสูง 5.2 เปอร์เซ็นต์
ตามมาด้วยการแถลงข่าวของ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สรุปได้ว่าค่าเฉลี่ยของหนี้สินครัวเรือนไทยในปี 2561 สูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ส่งผลให้หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆนำมาพาดหัวข่าวแสดงความวิตกกังวลหลายๆฉบับและหลายๆสำนัก
ซึ่งต่อมาท่านรองเลขาธิการสภาพัฒน์ ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้ตัวเลขจะสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นน่าวิตก หรือน่าเป็นห่วงมากนัก เพียงแต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
“การที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่น่ากังวล เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการก่อหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร ซึ่งก่อให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปในอนาคต”
“ในขณะที่หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก็มีการชะลอตัวลงจากร้อยละ 10.3 มาอยู่ที่ 7.8 อีกทั้งภาครัฐเองก็มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม”
ท่านรองเลขาธิการฯยังกล่าวถึงสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนที่สูงถึง 80.8% ในปี 2558 ลดลงเป็น 79.3% ในปี 2559 และ 78.85% ในปี 2560 และลงมาที่ 77.5% ในไตรมาส 2 ของปีนี้
ในขณะที่ ดร.ธนวรรธน์เองก็แสดงความเห็นสอดคล้องกับรองเลขาธิการสภาพัฒน์ โดยยืนยันว่าแม้ค่าเฉลี่ยหนี้สินจะเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างหนี้ยังไม่น่าวิตก เพราะจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน และการลงทุน ฯลฯ
นอกจากนี้เมื่อไปดูถึงความสามารถในการชำระหนี้ ผลการสำรวจพบว่าความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้น
ผมต้องขออนุญาตคัดลอกตัวเลขและคำสัมภาษณ์ของทั้ง 2 ท่านมาลงอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดของปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่หลายๆคนแสดงความห่วงใย
แม้ทั้ง 2 ท่านจะแสดงความเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่น่ากังวล แต่ก็ยํ้าว่าจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
จะต้องระวังอย่างมากๆด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ระวังอย่างผิวๆเผินๆเท่านั้น
แม้ภาพรวมจะดูเหมือนดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าสัดส่วนต่อจีดีพี ก็ยังสูงเกินร้อยละ 70 ซึ่งแสดงว่าคนส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นหนี้สิน
ผมห่างเหินตำราไปนานจนจำไม่ได้แล้วว่าสัดส่วนที่เหมาะสมของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีควรเป็นเท่าไร? แต่ด้วยสามัญสำนึกผมเห็นว่าร้อยละ 77.5 ตามตัวเลขล่าสุดก็ยังสูงอยู่
โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่น่าห่วงที่สุดก็คือ ครัวเรือนในชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มักต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจนแทบไม่มีความสามารถชำระ
ผมเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็จะต้องพยายามแก้ต่อไป
ไม่ใช่รัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้น ประชาชนเจ้าของครัวเรือนก็จะต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้วย...ด้วยการรู้จักประหยัด อดออม และรู้ถึงคุณค่าของเงินด้วยการใช้จ่ายอย่างมีประโยชน์ มิใช่ฟุ้งเฟ้อ
ต่อให้รัฐบาลหาเงินกู้ดอกเบี้ยถูกๆมาให้ชาวบ้านเข้าถึงหรือกู้ง่ายแค่ไหนก็ไลฟ์บอยครับ และรังแต่จะทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หากผู้กู้กู้เงินไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์เท่าไรนักอย่างที่เป็นมาเนิ่นนานและยังเป็นอยู่ทั่วประเทศไทยในปัจจุบันนี้
เจ้าของครัวเรือนทั้งหลายจะต้องร่วมมือด้วยครับ ถึงจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากหนักให้เป็นเบาได้ในที่สุด!
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 20 ธ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.