สกว.ลุยช่วยชุมชนบางชะนี อ.บางบาล ปรับตัวในพื้นที่รับน้ำ ปลูกข้าวนาปรังปลอดสารพิษ เก็บผลผลิตเร็ว ราคาดี มั่นใจปลดหนี้ภาคเกษตรได้
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานคณะกรรมกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการบอร์ด สกว. ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ดร.พงษ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกว. และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สกว. เดินทางมายัง ชุมชนบางชะนี ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมรับฟังความก้าวหน้า ภายหลังจากที่ สกว.ได้ลงมาเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนองค์ความรู้ตลอดจนพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร
นางเรณู กสิกุล ประธานสภาองกรค์ชุมชนบางชะนี กล่าวว่า ตนเองเกิดและเติบโตในพื้นที่ ต.บางชะนี ทุกฤดูน้ำหลาก บางบาลซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็เกิดน้ำท่วมทุกปี แต่เป็นการท่วมตามฤดูกาล ชาวบ้านตั้งรับได้ ปีไหนน้ำมากนาน ๆ นาจะเสียหายหนักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่านาล่มสักครั้ง จนเมื่อปี 2514 กรมชลประทานมาตัดถนนผ่าน เพื่อกั้นน้ำไม่ให้เข้าทุ่งบางบาล ทำให้การทำนาเป็นไปอย่างราบรื่น กระทั่งปี 2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ คันกั้นน้ำหักหลายที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ไร่นาเสียหายเป็นจำนวนมาก และมาปี 2545 เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน การแก้ไขส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องการเสริมคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะถนนให้สูงขึ้น และที่เสียหายหนักมากคือปี 2554 ซึ่ง นางเรณู บอกว่า เป็นการทวมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี หรือรอบอายุของตัวเองเลยทีเดียว
“ชาวนาบางบาล ทำนาปีเกือบทั้งหมด ผลผลิตที่ได้ ถามว่าคุ้มไหม ก็พอได้ถ้าไม่คิดค่าแรงตัวเอง แต่ถ้าปีไหนน้ำท่วมคือ เราขาดทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลพยายามที่จะให้เราปรับเปลี่ยนมาทำนาปรัง ซึ่งใช้เวลาเก็บเกี่ยวสั้นคือ ราว 4 เดือน ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้อะไรมาก ก็ยังคืนยืนหยัดทำนาปีเรื่อยมา และเป็นเกษตรกรคนสุดท้ายที่ปรับเปลี่ยนจากนาปีเป็นนาปรัง เพราะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. มาแนะนำ และมาเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา และทำวิจัยร่วมกับชาวนา ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าวิจัยคืออะไร แต่พอทำไปเริ่มซึมซับและเห็นลู่ทาง จึงได้ประชุมหารือกันในกลุ่มเกษตรกร ที่เรียกว่า นักวิจัยเกษตรกร ถึงปัญหาในภาพรวม ตั้งแต่การผันน้ำจากคลองพระขาวที่หล่อเลี้ยงชาวทุ่งบางบาลว่า เริ่มตื้นเขิน หญ้าขึ้นรก การระบายน้ำทำได้ไม่ดี จึงทำการลอกคลอง จนปัญหาน้ำลดลง รวมถึงปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก จากเดิมที่ใช้สารเคมีเต็มรูปแบบ มาเป็นแบบปลอดสารพิษ และเปรียบเทียบราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันกว่า 2 เท่าตัว ทำให้เริ่มมองเห็นลู่ทางในการพัฒนาผลผลิต ซึ่งในการเริ่มต้นทำรวมกันกว่า 40 ไร่ ก็จะขยายผลเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เราขาดคือช่องทางการตลาด ที่อาจต้องให้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาแนะนำ” นางเรณู กล่าว ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เกษตรกรชาว ต.บางชะนี อ.บางบาล เริ่มต้นได้ดี และขอให้กลุ่มเกษตรกร ที่เรียกตัวเองว่า “นักวิจัยเกษตรกร” นี้ ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่าย ซึ่งทราบว่ามีการตั้งกันขึ้นมาหลายกลุ่ม โดยให้ใช้ 40 ไร่เป็นต้นแบบ และขอให้ถอดบทเรียนร่วมกัน เชื่อว่าจะสามารถไปได้ เพราะดูจากกลุ่มนักวิจัยชุมชนแล้ว ก็เป็นคนที่มีองค์ความรู้ดี และดูมีความเข้มแข็ง และการรวมกลุ่มกันทำข้าวปลอดสารพิษ ที่เริ่มจากปลูกเอง กินเอง เหลือจากนั้นก็จำหน่าย โดยยึดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งคิดว่ามาถูกทางและสามารถพัฒนาต่อได้
สอดคล้องกับ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ที่มองว่า ผลสัมฤทธิ์ของ สกว.ที่ได้ลงมาข่วยชาวบ้านในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง สกว.เองไม่อาจจะช่วยเหลือได้ตลอดไป แต่อยากเน้นเป็นพี่เลี้ยงเพื่อผลิต นักวิจัยเกษตรกร ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดเกษตรกรพันธุ์เดียวกัน เชื่อว่าถ้าทำได้ ชุมชนบางชะนี และชาว อ.บางบาล ก็จะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น ปลดภาระหนี้สินภาคการเกษตรได้อย่างแน่นอน
สำหรับทุ่งบางบาล มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ กินพื้นที่ ต.บางชะนี ต.บางบาล ต.บางหัก เกษตรกรทำนากันสืบทอดกันมานับร้อยปี และเป็นการทำนาปีร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมามีนายทุนมากว้านซื้อที่ดิน ทำให้การทำนาแบบเกษตรดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่ถูกขายเป็นพื้นที่ขุดทราย บางทีแบ่งให้เช่าทำนา การทำนาจึงมีลักษณะไม่สมานฉันท์ บางคนทำนาปี บางคนทำนาปรัง บางคนทำพืชสวน การผันน้ำของชลประทานจึงไม่อาจตอบสนองคนทุกกลุ่มได้ จึงเกิดปัญหาการแย่งน้ำกันในบางครั้ง และเมื่อถูกเลือกให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ชาวอำเภอบางบาล จึงต้องตกอยู่สภาวะจำยอม หนี้สินภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ แม้จะเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง ทำให้เกษตรกรหาทางออกกันเองไปตามวิถีทางของแต่ละคน และไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยหลือ มากไปกว่า การมามอบของแจกช่วงน้ำท่วมแล้วก็จากไป กระทั่ง สกว.ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รู้จักคำว่า “วิจัย” และศึกษาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน จนกระทั่งมีการรวมกลุ่ม เพื่อผลิตข้าว และพืชสวน เช่น กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ จำหน่ายกันในครัวเรือน พอเป็นรายได้เสริมในฤดูที่ว่างจากการเก็บเกี่ยว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 ธ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.