ศัตรูพืช” รวมถึงโรคพืชเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือผิดปกติต่อพืชผลทางการเกษตร โดยปัจจุบันมีสภาวะแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติหรือสร้างความเสียหายให้กับพืชได้มากขึ้น
นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gasses : GHG) ในชั้นบรรยากาศ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาล้วนมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยในรอบศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นประมาณ 0.8 ํc และคาดว่าจะสูงขึ้นอีก 0.9- 3.5 ํc ในปี ค.ศ.2100 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการเพาะปลูกพืชหลายชนิด รวมถึงส่งผลกับการแพร่กระจาย และความรุนแรงของเชื้อโรคพืชหลายชนิด กระบวนการเกิดโรคพืชมากมายเกิดการพัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยที่พืชและเชื้อสาเหตุเกิดการปรับตัวไปตามภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลถึงปัจจัยหลักของกระบวนการเกิดโรค รวมถึงแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ ด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคพืชที่กล่าวถึงมีด้วยกัน 3 ประการคือ พืช เชื้อสาเหตุโรคพืช และสภาพแวดล้อม โดยความสัมพันธ์ของทั้งสามปัจจัยอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า สามเหลี่ยมโรคพืช (Disease triangle) ซึ่งในแต่ละด้านของสามเหลี่ยมประกอบไปด้วย พืชที่เป็นพันธุ์อ่อนแอหรืออยู่ในระยะอ่อนแอต่อโรค เชื้อสาเหตุโรคพืชที่มีความรุนแรงและมีปริมาณที่เหมาะสมในการเข้าทำลายพืช และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อและส่งเสริมให้พืชอ่อนแอต่อโรค หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือด้านใดด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมก็จะไม่เกิดโรคพืชขึ้นหรือไม่สามารถประกอบเป็นสามเหลี่ยมที่สมบูรณ์ได้
นางสาวชิดชนก คงเกตุ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมการวินิจฉัยศัตรูพืช กล่าวถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อศัตรูพืชว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบอย่างแน่นอนกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของพืช รวมถึงศัตรูพืชด้วย เมื่อสภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงปัจจัยหลักของกระบวนการเกิดโรคพืชและศัตรูพืชชนิดอื่นๆ ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและเชื้อโรคพืชโดยขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและเชื้อโรคเอง และส่งผลต่อวัฏจักรหรือวงจรชีวิตของเชื้อโรคพืชมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการอยู่รอด การแพร่ระบาด การเข้าทำลายหรือเข้าสู่พืช และอัตราการขยายพันธุ์
การเปลี่ยนแปลงของความชื้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ฝนตกชุกมากขึ้นทำให้ปริมาณของน้ำที่ระเหยในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น เหล่านี้ส่งเสริมให้พืชมีเรือนยอดที่แข็งแรงและขยายใหญ่ขึ้น ทำให้พืชยังคงเก็บรักษาความชื้นบนผิวใบ และความชื้นสัมพัทธ์ไว้ได้ดี สภาพเช่นนี้ส่งผลทำให้เกิดโรคพืชได้ง่ายขึ้น เช่น โรค late blight และโรคทางรากของพืชผัก รวมถึงโรคราแป้ง เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะแล้งก็ส่งผลต่ออัตราการเกิดและระดับความรุนแรงของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคไวรัสใบด่างแคระข้าวโพด และโรคไวรัสใบเหลืองพืชตระกูลบีท ส่วนการเปลี่ยนแปลงของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีต่อโรคพืชเป็นไปได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ แต่หลักๆ แล้วจะส่งผลต่อความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิและปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อพืช จึงทำให้พืชอ่อนแอต่อเชื้อโรค นอกจากนี้ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อวัฏจักรคาร์บอนในระบบนิเวศ โดยปริมาณไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจุลินทรีย์ในดินและรวมถึงจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ที่ผิวพืช/บริเวณราก ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและการเข้าทำลายหรือเข้าสู่พืชของเชื้อโรค
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลทำให้มีโอกาสในการเกิดโรคพืชอุบัติใหม่ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของแมลงพาหะโรคพืชและแมลงศัตรูพืช เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิมีผลต่อประชากรของแมลงศัตรูพืชในเขตร้อนจะส่งผลให้มีชนิดและจำนวนประชากรของแมลงเพิ่มมากขึ้น หมายถึงการเข้าทำลายพืชที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวัชพืช อาจมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วขึ้นจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นส่งเสริมให้พื้นที่ใบและกระบวนการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วแต่กำจัดวัชพืชได้ยากขึ้นซึ่งเกิดจากประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชที่ลดลงจากการสลายตัวได้ง่ายที่สภาวะอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการติดตามสถานการณ์ภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำแผนส่งเสริมการเกษตรแบบแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเลือกช่วงเวลาการปลูกพืชอย่างเหมาะสม ลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 23 ก.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.