ผ่านกฎหมายไม้มีค่าใช้ค้ำประกันได้! ครม.ไฟเขียวกฎกระทรวง เปิดทางให้นำไม้ยืนต้น58ชนิดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้
24 ก.ค.61 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร จ.อุบลราชธานี เห็นชอบให้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 เพื่อเปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ โดยกำหนดว่า จะต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ที่สามารถนำมาเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก และมีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
สำหรับไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีประมาณ 58 ชนิด เช่น ไม้สกุลมะม่วง , ไม้สกุลทุเรียน , ไม้สกุลยาง , มะขามป้อม , ไผ่ทุกชนิด , ไม้สัก , พะยูง , ชิงชัน , ประดู่ , มะค่า , เต็ง , รัง , ตะเคียน , สะเดา , นางพญาเสือโคร่ง , ปีบ , ตะแบกนา , ไม้สกุลจำปี , กัลปพฤกษ์ , ราชพฤกษ์ , หว้า , จามจุรี , กฤษณา และไม้หอม เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า การเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา ก็เนื่องมาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้เตรียมการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน พร้อมกับผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องการการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูง ในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อเป็นการออมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย
"ในอีก 2 สัปดาห์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเอง สามารถตัดไม้ไปขายได้ หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ ซึ่งถือเป็นวิธีการออมเงินอีกทางหนึ่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา รวมทั้งเป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และสามารถเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ส่วนต้นไม้แต่ละชนิดจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใดจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงินต่อไป"
อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ขั้นตอนต่อทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไปตรวจพิจารณา พร้อมทั้งรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมครม.เพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ก็ให้ถือเป็นมติ ครม.ตามที่เสนอ
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 24 ก.ค. 2561