กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เบื้องต้นสำรวจข้อมูลพบสมาชิกสหกรณ์ 44,523 รายมีความต้องการให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้ มูลหนี้รวมกันกว่า 5,499 ล้านบาท
จากข้อมูลกองทุนฟื้นฟูฯในปัจจุบันพบว่า มีสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ไปขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และมีความประสงค์ ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาบริหารจัดการหนี้ รวมจำนวน 44,549 ราย จาก 1,527 สหกรณ์ มีมูลหนี้รวมกันประมาณ 5,499 ล้านบาท
โดยในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเฉพาะกิจว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ.2560 รวมจำนวน 3,359 ราย มูลหนี้ 1,033 ล้านบาท และเป็นเกษตรกรที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าว จำนวน 41,190 ราย มูลหนี้ 4,466 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านหนี้สินและ มีความต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ในเบื้องต้น กรมฯ จะพิจารณาเฉพาะ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง กฟก.ก่อน โดยขอให้สหกรณ์ในกลุ่มเป้าหมาย กลับไปตรวจสอบข้อมูลสมาชิกว่ายังมีความต้องการให้กฟก.เข้ามาบริหารจัดการหนี้แทนสหกรณ์หรือไม่ หากไม่ต้องการ จะมีวิธีการบริหารจัดการหนี้ที่ยังค้างอย่างไร ซึ่งทั้งสองทางเลือกต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายและต้องเกิดประโยชน์กับสมาชิกสหกรณ์โดยรวม จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปกรมฯ จะได้จัดทำรายละเอียดเสนอให้กับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเฉพาะกิจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ.2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้ คือ 1.เป็นหนี้ในระบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร 2.เป็นหนี้ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ราคาประเมินหลักทรัพย์คุ้มหนี้ที่ชำระ 3.เป็นหนี้ซึ่งมีมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ต่อราย และ 4.เป็นหนี้ซึ่งมีสถานะหนี้ คือ เป็นหนี้ถูกฟ้องล้มละลายและศาลยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์/หนี้ระหว่างการบังคับคดีและขายทอดตลาด/หนี้ถูกดำเนินคดี/ หนี้ผิดนัดชำระหนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจเห็นชอบเงื่อนไขเกณฑ์การชำระหนี้ กรณีสถาบันเจ้าหนี้สหกรณ์ ให้กำหนดชำระต้นเงินที่ร้อยละ 100 โดยงดดอกเบี้ยและค่าปรับ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวทำให้สามารถซื้อหนี้ได้ 17 ราย 4.677 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการเจรจาหนี้สินสถาบันเจ้าหนี้ของเกษตรกร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 เสนอเงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกร ในส่วนของสถาบันเจ้าหนี้ (สหกรณ์) ดังนี้ 1.ชำระคืนต้นเงิน ร้อยละ 100 2. ดอกเบี้ย ไม่เกินร้อยละ 7.5 (ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี) และ 3. ค่าใช้จ่ายดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมาย
ในส่วนของหนี้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กฟก.เฉพาะกิจ กรมฯ ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ดังนี้ 1. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไม่เกิน 15 ปี 2.พักต้น 3 ปี และรัฐชดเชยดอกเบี้ย 7.5 % ระยะเวลา 3 ปี 3.การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส.ให้สหกรณ์เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปฟื้นฟูอาชีพ ระยะเวลา 3 ปี 4.สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส.ให้สหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ระยะเวลา 3 ปี และ5.รัฐอุดหนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้สหกรณ์พิจารณา ก่อนนำเสนอเป็นนโยบายต่อไป
“ขอความร่วมมือให้ทุกสหกรณ์กลับไปตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนด ว่ามีจำนวนสมาชิกที่อยู่ในหลักเกณฑ์และประสงค์จะให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้ามาบริหารจัดการหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดมีจำนวนกี่ราย มูลหนี้เท่าไหร่ แล้วให้แจ้งยืนยันกลับมาที่กรมฯ และในส่วนของสมาชิกสหกรณ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่สามารถให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้ามาจัดการหนี้ได้ จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกลุ่มนี้อย่างไร ส่วนการฟื้นฟูอาชีพฯกรมฯจะเสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้สมาชิกสหกรณ์ต่อไป แต่ในขณะนี้ต้องรอผลการพิจารณาจากสหกรณ์ว่าจะสามารถให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้ามาบริหารจัดการหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งกรมฯคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้ในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 3 ก.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.