บอร์ดสภาพัฒน์ ทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทแร่ 5 ปี เผยยังเข้มงวดการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมผ่อนคลายเหมืองหินอุตฯ
แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2561 ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้มีหนังสือแจ้งมายังปลัดกระทรวงทรัพยากรฯในเรื่องที่บอร์ดสศช.ได้พิจารณาทบทวนเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 โดยมีมติสำคัญคือ
1.เรื่องการทำเหมืองแร่ทองคำ บอร์ดสศช.ต้องการให้ระบุเงื่อนไขและข้อสังเกตุเอาไว้ว่า ควรเป็นไปตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) และคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นทรัพยากรแร่ที่มีความสำคัญ มีมูลค่าสูง และต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
2.กรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างในพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่มีการขอให้กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองด้วยนั้น เห็นควรให้ระบุเงื่อนไขและข้อสังเกตุของกรรมการ สศช.ว่า ควรเป็นไปตามกฎหมายด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
โดยเฉพาะผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินข้างเคียง รวมทั้งดำเนินมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่เปิดดำเนินการอยู่หรือได้รับการอนุญาตเรียบร้อยแล้ว และสามารถผลิตแร่ที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจได้ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ระหว่างที่มีการวางระบบบริหารจัดการแร่ ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ระยะ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับแรกนี้
3.กรณีคำขออาชญาบัตรที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ที่เสนอทบทวนขอให้กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองด้วยนั้น กรรมการสศช.ขอยืนยันตามมติเดิม คือควรจำแนกเป็น “พื้นที่มีศักยภาพในการทำเหมือง” เนื่องจากเป็นเพียงการยื่นคำขอแสดงความจำนงในการขออนุญาตสำรวจแร่และยังไม่ได้รับอนุญาต ยังไม่มีข้อผูกพันใดกับรัฐ จึงควรดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560
4.กรณีกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เห็นชอบให้ยืนยันตามมติเดิม โดยควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเมื่อมีการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเสร็จแล้ว จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 และพ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 17
สำหรับการบริหารจัดการแร่ทองคำในระยะยาว ภาครัฐควรเร่งดำเนินการสำรวจประเมินทรัพยากรแร่ทองคำโดยละเอียด ตามแนวทางการประเมินทรัพยากรแร่ของสากล เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้มีการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์แร่ทองคำ โดยจำแนกเป็นเขตสงวนหวงห้าม เขตอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต และเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 มิ.ย. 2561