ภาคเกษตรที่จะพลิกผันเกษตรกรและภาคเกษตรไทยก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่ครบวงจร เพื่อเพิ่มด้านการผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรไทยเทียบเท่าสากล
เพื่อผลักดันศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดาริจังหวัดระยอง ให้เป็นศูนย์กลางเรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำศาสตร์พระราชาประยุกต์ใช้กับไอทีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยก้าวสู่ “เกษตรอัจฉริยะ4.0 และเป็นNational Agricultural Innovation Center สำหรับให้เกษตรกรที่ต้องการความรู้ ได้รับความรู้และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้พร้อมรับการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการจัดการความรู้ และกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง ผ่านการจัดแสดงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (Show Case) การวิจัยและทดลองเพื่อขยายผล การเรียนรู้ประสบการใหม่จากของจริง
ล่าสุดนำโดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับ 5 หน่วยงานประกอบด้วยลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินการ“โครงการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ในศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริจ.ระยอง”ระหว่างจ.ระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ณ. ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริจ.ระยอง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง แผนงานในการพัฒนาภาคเกษตรไทยในการก้าวสู่การทำเกษตรที่ทันสมัยครบวงจร ประกอบด้วย การจัดแสดงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (Show Case) ด้านพืช สัตว์ และประมง เช่น เทคโนโลยีการเตรียมการเพาะปลูก การหว่านลงเมล็ด การเก็บเกี่ยว โดยเครื่องจักรเข้าช่วยในทุกขึ้นตอน ไม่ว่าจะเป็นรถไถหว่าน รถแทรคเตอร์ ซึ่งมีระบบเชื่อมสัญญาณดาวเทียม เข้าไปในรถเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการตรวจจับแปลงเพาะปลูกและสำรวจสภาพอากาศของพื้นที่เกษตรนั้นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มการคำนวณระยะการเก็บเกี่ยวที่แม่นยำขึ้น
เทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ โดยอุปกรณ์เซนเซอร์ที่คอยตรวจจับสภาพของต้นไม้ ว่าต้นไม้ได้รับน้ำหรือแสงแดดเพียงพอหรือไม่ หรือสภาพของดินดีหรือเปล่าเทคโนโลยีการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช โดยระบบสนับสนุนการตัดสินใจภายใต้ระบบเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สายและอัลกอริทึมสำหรับพยากรณ์ล่วงหน้า โดยสามารถดูสภาพอากาศของฟาร์มเพื่อทำนายการเกิดโรคหรือศัตรูพืชของฟาร์มได้ เครื่องนี้จะคอยดูตัวชี้วัดทางธรรมชาติต่างๆ จากนั้นถ่ายทอดข้อมูลเซนเซอร์ไปยังศูนย์กลางข้อมูลที่จัดไว้เป็นในชุดของอัลกอริทึม ผู้ใช้อ่านผลได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน
เทคโนโลยีการสำรวจทางอากาศเพื่อหาความผิดปกติ โดยอุปกรณ์การบิน Drone ที่ติดตั้งเซนเซอร์ต่างๆ ได้แก่ เซนเซอร์การมองเห็น, เซนเซอร์ multi-spectrum, เซนเซอร์อุณหภูมิและ LIDAR ที่สามารถวัดความสูงที่เติบโตขึ้นของพืชผล ต้นไม้ โดยไม่ต้องใช้คนควบคุม
เทคโนโลยีการควบคุมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและกรขนส่งสินค้าเกษตร โดยการวิจัยพัฒนาใช้โอโซนเข้าช่วย ซึ่งโอโซน (O3) จะทำการออกซิไดซ์การเน่าและจุลิทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคส่งผลให้การเน่าของผลิตภัณฑ์ลดลง ทั้งยังช่วยเอาก๊าซเอธิลีนออก ซึ่งช่วยควบคุมการสุกของผลไม้ได้ รวมทั้งระบบการติดตามการขนส่งสินค้าได้แบบ real-time ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง
เทคโนโลยีการเกษตรแนวตั้ง หรือ Vertical Farm การปลูกพืชเป็นชั้นๆ มีการให้น้ำ อาหาร และแสง เพื่อจัดทำข้อมูลสร้างระบบการดูแลรักษาที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ในโรงเรือนที่มีหลังคา ไม่จำกัดฤดูกาล และสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยี Farmbot หรือ ระบบปลูกพืชอัตโนมัติ เป็นระบบปลูกพืชอัตโนมัติได้หลายชนิด ปลูกเอง รดน้ำเอง กำจัดวัชพืชเอง สั่งการและควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านซอฟต์แวร์ไปควบคุมเซนเซอร์
เทคโนโลยีในฟาร์มปศุสัตว์ เช่น Livestock Activity Monito เพื่อติดตามตรวจวัดการเคลื่อนไหว การกินอาหาร การเดิน ระบบการวิเคราะห์การหายใจของฟาร์มโคนม เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียจากความเสี่ยงด้านโรค และต้นทุนอาหาร เป็นต้น
ทั้งหมดคือ การพลิกมิติครั้งสำคัญของภาคเกษตรที่จะพลิกผันเกษตรกรและภาคเกษตรไทยก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่ครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรไทยเทียบเท่าสากล
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มิ.ย. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.