เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน” ที่จัดขึ้นโดย คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ โครงการวิจัยศึกษาแนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการที่ดิน ที่นำไปสู่การกระจายที่ดินที่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรการปฏิรูปประเทศ
เบื้องต้นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลในปี 2560 ระบุว่าพื้นที่ประเทศไทยมี 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ (47 %) ต่อจำนวนประชาเกษตรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 7.69 ล้านครัวเรือน หรือ 24 ล้านคน พื้นที่จำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อเกษตรกร แนวทางการจัดสรรที่ดินของกระทรวงเกษตรฯ การจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ทั้งในส่วนของการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้เชื่อมโยงกัน มีการจัดทำ One Map แผนที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ เพื่อการจัดโซนนิ่งทางการเกษตรได้ว่าบริเวณใดควรปลูกอะไร ปริมาณเท่าไหร่
ต่อมา ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “แนวทางการจัดการที่ดินให้แก่ประชาชน” สกว. ได้ให้ข้อมูลว่า การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหัวข้อหนึ่งที่คณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง หรือ อปป. หยิบยกมาพิจารณาเนื่องจากถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72(3) มาตรา 258 ช.(2) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่สมควรจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว เพื่อปรับปรุงเครื่องมือการบริหารและตัดสินใจทางนโยบาย
ปัจจุบันกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการจัดที่ดินให้แก่ประชาชนโดยตรงมี 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ประมวลกฎหมายที่ดิน 2.พระราชบัญญัติที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยกฎหมายเกือบทั้งหมดกำหนดให้นำ “ที่ดินของรัฐ” มาจัดให้ประชาชน บุคคลที่จะมีสิทธิ์ได้รับการจัดที่ดินกลุ่มแรกคือเกษตรกรและผู้ยากจน โดยขนาดที่ดินที่จัดให้จะอยู่ทีไม่เกิน 3 - 5 ไร่ ในส่วนของข้อกฎหมายพบว่า กฎหมายใหม่ด้านที่ดินของประเทศไทยเกิดขึ้น ในขณะที่กฎหมายก็ยังมีผลบังคับใช้ ทำให้มีความซ้อนทับกัน ปัญหาที่พบหลังจากมีการจัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งคือ
ผู้ที่อยู่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินนั้นซึ่งได้รับความนิยามว่า คนจน เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนเป็นกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ จะขายที่ดิน กล่าวโดยง่ายคือ ที่ดินมือหนึ่งเป็นของคนจน แต่มือต่อๆมาเป็นของคนรวย ซึ่งอาจอยู่ในวงจรของการฟอกที่ดิน ทำให้การจัดสรรดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินหรือความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ในสภาพความเป็นจริงยังพบว่าการจัดสรรที่ดินเพื่อทำการเกษตรนั้น ผู้ที่ได้รับการจัดสรรมักจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมบนที่ดินดังกล่าวที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าการทำการเกษตร เช่น จัดทำโฮมเสตย์ ทำธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งขัดความประสงค์ของรัฐที่วางไว้ และนอกจากนี้จากการจัดสรรดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ป่าของประเทศ ดังนั้นคณะผู้วิจัยโครงการดังกล่าว จึงเสนอแนวทางการจัดการที่ดินให้เหมาะสม ที่เป็นมาตรการเร่งด่วนคือการจัดตั้งธนาคารที่ดิน การปรับรื้อกองทุนด้านที่ดิน สร้างระบบฐานข้อมูลป่าไม้-ที่ดิน และระบบภาษีที่ดิน จัดทำร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปฏิรูปหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสิทธิการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทำประมวลกฎหมายป่าไม้ และการปรับรื้อกฎหมายที่ดินฉบับต่างๆ จัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และปฏิรูประบบผังเมือง นอกจากนี้ในกฎหมายหลายฉบับควรมีการปรับเปลี่ยนนิยามของผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินทั้งในส่วนของคำว่า “เกษตรกร” “ผู้ยากจน” รวมถึงชุมชนที่จะมีสิทธิได้รับที่ดิน ทั้งนี้ความคิดเห็นที่ได้จากข้อหารือต่อแนวทางการจัดสรรที่ดินดังกล่าว จะถูกนำไปพัฒนารายงานต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อนำส่งต่อให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 21 มิ.ย. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.