"กฤษฏา"ดีเดย์สางหนี้เกษตรกรภายใน 30 วัน ลั่นทำให้จบรัฐบาลนี้จ่อแฮร์คัตตัดต้น 50% หยุดดอกเบี้ย คาดเทงบก้อนแรกช่วยเกษตรกรมีหนี้เอ็นพีแอล-ยึดทรัพย์ 3.6 หมื่นราย"
29 พ.ค. 2561 "กฤษฏา"ดีเดย์สางหนี้เกษตรกรภายใน 30 วัน ลั่นทำให้จบรัฐบาลนี้ จ่อแฮร์คัตตัดต้น 50% หยุดดอกเบี้ย คาดเทงบก้อนแรกช่วยเกษตรกรมีหนี้เอ็นพีแอล-ยึดทรัพย์ 3.6 หมื่นราย"
นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ว่าได้รับมาดำเนินการแก้ไขในมูลหนี้ที่เกิดก่อนถึงวันที่ 30 ธ.ค.60 พร้อมกับตั้งคณะทำงานรวบรวมรายละเอียดอย่างรอบด้านและดูข้อกฎหมายในการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรให้มีความชัดเจน
"อีก 30 วันจะเสนอแนวทางแก้ไขหนี้เกษตรกรเข้าครม.ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร และทำให้จบในรัฐบาลนี้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย จะสามารถรักษาที่ดินทำกินของตนเองไว้ให้ได้ถึงรุ่นลูกหลาน"นายกฤษฏากล่าว
นายครรชิต สุขเสถียร ผอ.สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รมว.เกษตรฯมีเจตนารมย์แก้หนี้ให้สำเร็จ ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแก้ไขหนี้เกษตรกรกองทุนทั้งระบบโดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณและไม่กระทบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ภายใน 30 วันต้องสรุปแนวทางแก้ไขเป็นเพ็คใหญ่เข้าครม.
สำหรับมูลหนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กับหนี้นอกเกณฑ์คือใช้บุคคลค้ำซึ่งเกษตรกรมีการกู้หนี้ไปใช้นอกภาคเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่ต้องช่วยเร่งด่วนกว่า 7- 8 พันคน ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมาย โดยรมว.เกษตรฯ สั่งให้ทำหนังสือไปถึงสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ชะลอการบังคับคดี หรือยึดทรัพย์ ออกไปอีก 1 เดือน
เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นทะเบียนจนถึงปี 2560 จำนวนกว่า 4.6 แสนคน ขณะนี้มาแสดงตน 2.9 แสนคน อีก 2.3 แสนคน กำลังเปิดให้แสดงตนรอบสอง ในเบื้องต้นให้รัฐช่วยเหลือหนี้ชำระหนี้ 1.6 แสนคน โดยแยกออกมาเป็นหนี้เพื่อไปทำเกษตรกรรม 8.5 หมื่นคน อีกกว่า 7 หมื่นราย ไม่เข้าหลักเกณฑ์มีหนี้พ่วงนอกภาคเกษตร โดยบุคคลค้ำประกัน และมีการค้ำประกันต่อ
ทั้งนี้ในส่วนเกษตรเป็นหนี้เสีย หนี้ด้อยค่า ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) 3.6 หมื่นราย หากปรับโครงสร้างหนี้ ลดต้น 50% และหยุดดอกเบี้ยไว้ เรียกว่า แฮร์คัต ตามสูตรเดิมของธนาคารเพื่อการเกษตรฯ(ธกส.) อาจต้องใช้วงเงินมากถึง 7- 8 พันล้านบาท รมว.เกษตรฯห่วงกระทบวินัยการเงินของประเทศ จึงให้กรอบ 30 วัน มาดูเรื่องคุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข รวมทั้งหารือกับสถาบันการเงิน ในเรื่องการตั้งสำรองหนี้สูญไว้ด้วย เพื่อวางกรอบแนวทางช่วยหนี้เอ็นพีแอลที่จะเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มแรก
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 29 พ.ค. 2561