ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผย ผลสำรวจในหัวข้อ “จุลทรรศน์ภาคเกษตรไทยผ่านข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและสำมะโนเกษตร เจาะลึกโครงสร้างภาคเกษตรไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน?” ว่า ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสูงวัยของแรงงาน ซึ่งเร็วกว่าภาพรวมของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของแรงงานเกษตรสูงอายุที่มีอายุ 40-60 ปี เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2546 เป็น 49% ในปี 2556 เช่นเดียวกับสัดส่วนของแรงงานที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่เพิ่มขึ้นด้วย
สวนทางกับสัดส่วนของแรงงานอายุน้อย อายุ15-40 ปี ที่ลดลงอย่างมากจาก 48% เป็น 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับภาพรวมโครงสร้างประชากรของประเทศจากกรมการปกครอง พบว่าจำนวนประชากรของประเทศที่มีอายุ 15-40 ปี, 40-60 ปี และมากกว่า 60 ปี ในปี 2560 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 51, 35 และ 14 ตามลำดับ
และเมื่อพิจารณาสัดส่วนแรงงานสูงอายุในเชิงพื้นที่พบว่าภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือมีสัดส่วนของแรงงานสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป และการเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ในระดับที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ และสัดส่วนแรงงานสูงอายุได้ปรับเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ และทุกกิจกรรมการผลิต
แรงงานเกษตรไทยมีการศึกษาที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนแรงงานเกษตรที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 12.1% ในปี 2546 เป็น 21.5% ในปี 2556 และเพิ่มขึ้นในทุกช่วยอายุและเพศ โดยเฉพาะแรงงานอายุน้อยและสูงอายุ
ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรไทยนั้น รายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรนับว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งชี้ถึงการพัฒนาของครัวเรือนเกษตรไทย
โดยเฉลี่ยรายได้ต่อหัวต่อปีของครัวเรือนเกษตรไทยอยู่ที่ 57,032 บาทในปี 2560 ซึ่งร้อยละ 66 มาจากภาคเกษตร และสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ต่อหัวต่อปีของครัวเรือนเกษตรไทยอยู่ที่ 1.3 เท่าในปี 2560 ซึ่งร้อยละ 69 มาจากภาคเกษตร เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของรายได้และหนี้สินรายครัวเรือน โดยพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีก 2 ประการ คือ
สัดส่วนเกือบ 40% ของครัวเรือนเกษตรไทยยังมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ แสดงให้เห็นว่ารายได้ต่อหัวมีการกระจายตัวและมีความเหลื่อมล้ำสูง โดย 70% ของครัวเรือนมีรายได้ไม่ถึงค่าเฉลี่ย และครัวเรือนจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีรายได้สูง และที่สำคัญก็คือ ประมาณ 40% ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้ไม่ถึง 32,000 บาท ซึ่งคือระดับเส้นความยากจนของประเทศไทยในปี 2559 โดยรวมครัวเรือนเกษตรไทยจำนวนมากยังมีฐานะยากจน
“ 30% ของครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินเกิน 1 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปี และเช่นเดียวกับรายได้ แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ต่อรายได้มีความแตกต่างสูงมากระหว่างครัวเรือน โดย 50% มีหนี้สินต่อรายได้ต่อหัวต่อปีไม่ถึง 0.6 เท่า และมีเพียง 10% ของครัวเรือนที่มีหนี้สินเกิน 3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปี”
รายได้และหนี้สินของครัวเรือนยังมีความแตกต่างเชิงพื้นที่ แสดงให้เห็นว่ารายได้ต่อหัวต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงในภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในบางพื้นที่ของภาคใต้ ในขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ต่อหัวต่อปีโดยเฉลี่ยสูงในบางพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่นำเสนอได้สะท้อนความท้าทายที่ภาคเกษตรไทยเผชิญพร้อมกับโอกาสที่จะช่วยให้ก้าวผ่านความท้าทายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยสามารถสรุปประเด็นเชิงนโยบายได้ดังนี้
- ประเด็นแรกที่ท้าทายภาคเกษตร คือปัญหาสูงวัยของแรงงานเกษตร ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับตัวและเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผู้กำหนดนโยบายควรเร่งสร้างทักษะและความรู้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ให้กับแรงงาน วัยหนุ่มสาวจนถึงวัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในครัวเรือนเกษตร ควบคู่กับการใช้มาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดให้แรงงานกลุ่มนี้หันมาทำเกษตรมากขึ้น การยกระดับผลิตภาพดังกล่าวจะได้รับแรงส่งเพิ่มจากการที่แรงงานในภาคเกษตรมีการศึกษาที่สูงขึ้น และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรุ่นใหม่ในสถาบันเกษตรกรต่างๆ
- ประเด็นที่สองที่ท้าทายภาคเกษตร คือการที่ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินจำนวนไม่มากและขนาดของที่ดินถือครองมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้กำหนดนโยบายควรเร่งเพิ่มผลิตภาพและรายได้ โดยการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง และส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองเรื่องการซื้อปัจจัยการผลิตและการขายผลผลิต ซึ่งการส่งเสริมข้างต้นยังจะได้รับการเกื้อหนุนที่ดีจาก economy of scale ที่เกิดจากกิจกรรมการเกษตรที่มีความกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ นอกจากนี้การเข้าถึงสินเชื่ออย่างทั่วถึงก็น่าจะช่วยชะลอการสูญเสียที่ดินได้
- ประเด็นที่สามที่ท้าทายภาคเกษตรคือการที่ครัวเรือนเกษตรจำนวนมากไม่มีหรือมีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินเพียงบางส่วน ดังนั้นจึงควรเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินอย่างสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์การมีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินอย่างสมบูรณ์ จะทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการลงทุน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต
- ประเด็นที่สี่ที่ท้าทายภาคเกษตรคือการที่ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการชลประทานและแหล่งน้ำได้ และมีความแตกต่างเชิงพื้นที่สูง ดังนั้น การลงทุนขยายพื้นที่ชลประทานและการสร้างแหล่งน้ำให้ทั่วถึงหรือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งน้ำ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ที่ดิน และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีได้อีกด้วย
- ประเด็นที่ห้าที่กำลังท้าทายภาคเกษตรคือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการมุ่งสู่การผลิตแบบเกษตรเชิงเดี่ยว แม้ว่าการผลิตดังกล่าวจะก่อให้เกิด Specialization แต่ข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรก็กำลังเผชิญกับความผันผวนของผลผลิตต่อไร่ที่มากขึ้นและพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงเสมอไป ดังนั้นการดำเนินนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ในปัจจุบันควรมีมาตรการเสริม เพื่อให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง และเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการความเสี่ยงให้ทั่วถึง
- ประเด็นที่หกที่ท้าทายภาคเกษตรคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตโดยการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน โดยข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาบ่งชี้ว่ายังมีครัวเรือนจำนวนมากที่ยังคงใช้เครื่องจักรกลแบบดั้งเดิมอยู่ ดังนั้นการเร่งทดแทนแรงงานด้วยเครื่องจักรกลสมัยใหม่และเทคโนโลยี โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือน่าจะช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิตได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการอบรมและให้ความรู้ ให้สินเชื่อพร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่ม ตลอดจนใช้ประโยชน์จาก economy of scale ในการส่งเสริมให้มีตลาดเช่าอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการส่งผ่านเครื่องจักรสมัยใหม่และเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรรายย่อย
- ประเด็นสุดท้ายท้าทายภาคเกษตรคือจำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่ยังคงมีจำนวนมากอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต และแรงงานจำนวนมากเป็นแรงงานสูงอายุ ได้ส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพและรายได้ต่อหัว ผู้กำหนดนโยบายจึงควรมีการผลักดันให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำออกจากภาคเกษตร พร้อม ๆ กับการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานที่มีผลิตภาพสูง
กล่าวโดยสรุป การยกระดับผลิตภาพทางการเกษตรให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควรต้องเน้นการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาในเชิงลึกและพื้นที่ให้มากขึ้น โดยการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการความเสี่ยงในการผลิต การผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง การเข้าถึงเทคโนโลยีและวัตกรรม การให้การศึกษาอบรม การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ระบบชลประทาน การรวมกลุ่มและการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร พยายามจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมากทำเกษตรมากขึ้น ในเวลาเดียวกับการผลักดันแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำออกนอกภาคกษตร
ที่มา : วารสารการเงินธนาคาร วันที่ 30 พ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.