ประชุมองค์กรผู้บริโภคจับมือภาคธุรกิจยุติการใช้สารพาราควอต ส่งสัญญาณ "เราหยุดแล้ว ใยท่านจึงไม่หยุด" ชวนจับตามติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 23 พ.ค. นี้ "ถ้ารัฐจะเห็นแก่ผลประกอบการของนักธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าสุขภาพของประชาชนในประเทศ ก็ให้รู้กันไป"
20 พ.ค. 2561 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดประชุม “ความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต” เห็นร่วมกันต้องยุติการใช้สารกำจัดวัชพืชในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราควอต เพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค พร้อมเสนอนายก-กรรมการวัตถุอันตรายประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทางวิชาการ คอบช. สรุปได้ว่า สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอต” มีอันตรายสูงทั้งต่อตัวผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะมีการจำกัดและควบคุมการใช้สารนี้อย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นร่วมกันที่จะยุติการใช้สารพาราควอตในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่ง คอบช. จะได้ทำหนังสือไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อให้พิจารณาประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อไป
“นักวิชาการสายเกษตรของบ้านเราชอบแนะนำการใช้สารเคมีอันตรายโดยอาศัยหลักการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติเขียว หลักการนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่จะอยู่กับสารอันตรายอย่างไรให้ปลอดภัย ทำให้ละเลยต่อผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งด้วยหลักการนี้ทำให้การยกเลิกสารอันตรายแต่ละตัวลำบากยิ่ง แต่หากเราใช้หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) ที่เน้นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน แล้วนั้น พาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ที่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนถึงอันตรายชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ คงถูกยกเลิกไปนานแล้ว หวังว่าท่านนายกและคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะก้าวหน้า ใช้หลักการระวังไว้ก่อนประกอบการพิจารณายกเลิกการใช้สารพาราควอต” ผศ.ดร.ยุพดี กล่าว
“คอบช. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำหนังสือไปสอบถามบริษัทน้ำตาลจำนวน 47 บริษัทเรื่องนโยบายในการผลิตน้ำตาลว่ามีการใช้พาราควอตหรือไม่ และมีนโยบายหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับกลับมาทั้งสิ้น 7 บริษัท มี 3 บริษัทคือ บริษัท มิตรผล จำกัด บริษัท เกษรตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ที่ตอบมาชัดเจนว่ามีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้พาราควอต ขณะที่อีก 4 บริษัทตอบมาในลักษณะที่ว่ามีความพร้อมหากจะไม่ใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอ้อย ส่วนอีก 40 บริษัทที่เหลือ เราสามารถตีความได้ว่า ‘ยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล’”
นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยถือว่ามีปริมาณการใช้ต่อพื้นที่การเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้สูงเป็นอันดับ 5ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าทุกชนิดรวมทั้งพาราควอตซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดถึง 120 ล้านกิโลกรัม จำนวนการใช้มากมายขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน มีทั้งผลกระทบต่อผู้ใช้จนเกิดโรคเนื้อเน่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรโต้แย้งว่าเกิดจากการใช้อย่างผิดวิธี สวมชุดป้องกันที่ถูกต้อง แต่คงลืมว่าประเทศไทยเป็นร้อนการใส่ชุดป้องกันดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะพยายามป้องกันอย่างไรก็ตาม แต่การใช้อยู่เป็นประจำก็ไม่มีทางรอดพ้นจากการได้สัมผัสเข้าสู่ร่างกาย เนื่องเหตุที่เป็นสารพิษที่รุนแรงและไม่มียาต้านพิษ เพราะฉะนั้นผู้ได้รับสารพาราควอตจึงต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน ถ้าไม่เชื่อผมขอจ้างในราคาที่มากกว่าทั่วไปสักท่านอนุกรรมการมาเป็นคนฉีดยาสัก 1 อาทิตย์ ซึ่งผู้ประกอบการทางเกษตรที่มีฐานะบ้างก็จะจ้างคนอื่นที่มีความจำเป็นต้องการเงินยังชีพ ก็จะยอมที่จะมารับความเสี่ยงโดยการรับจ้างฉีดยา ชีวิตการทำงานของคนเหล่านี้โดยทั่วไปจะสามารถทำงานได้แค่ 2 – 4 ปีเท่านั้น ก็จะเสียชีวิตอย่างแน่นอน สิ่งนี้คือการผลิตอาหารให้คนอื่นที่แลกด้วยชีวิตของผู้อื่น ไม่อยากให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับการตายของคนอื่นเพื่อแลกต่ออาหารให้เราทานเป็นเรื่องปกติ
ผมในฐานะตัวแทนเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทางอาหารและเครื่องดื่มออกมาแสดงท่าทีและนโยบายของบริษัทที่จะไม่รับผลผลิตแะวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในธุรกิจ นี่คือจุดยืนที่สำคัญในการทำ CSR ที่ทรงคุณค่าต่อสังคม และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจของท่าน และสามารถแยกแยะองค์กรของท่านออกจากธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงขอเรียกร้องว่านี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้าสู่งสังคมที่มีอาหารที่ปลอดภัยโดยพลังของภาคธุรกิจ และขอสื่อสารถึงภาครัฐว่าการตัดสินใจของท่านที่จะไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงทั้งหลายรวมถึงพาราควอตนี้ จะส่งผลต่ออนาคตในเรื่องความล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าที่จะไม่สามารถรับภาระผู้เจ็บป่วยในอนาคตของประเทศ อันส่งผลให้ในท้ายที่สุดจักต้องมีการยกเลิกหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าต่อไป
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัมเมื่อปี 2560 (เป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557) จะเห็นว่ามีการนำเข้ามากกว่าในปี 2559 กว่า 41% (31.5 ล้านกิโลกรัม) จำนวนสารเคมีที่มากขนาดนี้จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ ดังนั้นนอกจากการยุติการใช้แล้ว เราจะร่วมกันเฝ้าระวังการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้งในอาหารและในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ ในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารพาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ
เราคาดหวังว่าการประกาศยุติการใช้สารพาราควอตโดยเครือข่ายผู้ประกอบการในครั้งนี้จะทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ ง่ายขึ้นในการยกเลิกการใช้สารพาราควอตทั้งประเทศ “ถ้ารัฐจะเห็นแก่ผลประกอบการของนักธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าสุขภาพของประชาชนในประเทศ ก็ให้รู้กันไป”
ที่มา : ประชาไท วันที่ 20 พ.ค. 2561