“ทุกวันนี้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้กิโลกรัมละไม่เกิน 11 บาท แม้ว่าจะขยันปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ หรือขี้เกียจใช้พันธุ์ข้าวมั่ว ๆ ขายได้ราคาเท่ากันหมด แล้วอย่างนี้ชาวนาที่ไหนจะปลูกข้าวดีๆไปทำไม อ.ต.ก.ได้รับโจทย์จากรัฐให้เราช่วยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด มีเป้าหมายใช้การตลาดนำการผลิต เราจึงต้องไปเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนวิธีคิดในการปลูกข้าว หาวิธีทำให้ชาวนาผลิตข้าวที่มีคุณภาพมาขายถึงจะได้ราคาดี”
กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) บอกว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ตั้งทีมงานร่วมกับภาคเอกชน ไปส่งเสริมเกษตรกร 5,800 ราย ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิ กข 15 และข้าวหอมสายพันธุ์อื่นๆ ไปส่งเสริมพื้นที่ 70,000 ไร่ กระจายในพื้นที่ 9 จังหวัด ตั้งแต่นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, นครพนม และร้อยเอ็ด
ส่งเสริมให้ปลูกข้าวหอมเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก
แต่การจะให้ชาวนาปลูกข้าวได้หอม มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และเกษตรกรขายได้ราคาดี ต้องมีกลยุทธ์จูงใจ...จ่ายค่าข้าวให้ตามค่าความหอม ใครทำได้หอมมากได้ราคาแพง หอมน้อยได้น้อย
“เมื่อชาวนาในโครงการได้ผลผลิตมาขาย จะยังไม่มีการจ่ายเงินให้ชาวนา ต้องรอไป 1 สัปดาห์ถึงจะจ่าย เพราะต้องรอให้ทีมงานส่งตัวอย่างข้าวเปลือกไปให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตรวจหาสารความหอมของข้าว ที่เรียกสั้นๆว่า 2AP ถ้าค่าความหอมแค่ 2 ppm. จะได้ราคาเท่าท้องตลาดทั่วไป แต่ถ้าความหอมอยู่ที่ 3 ppm. อ.ต.ก.จะให้ราคาตันละ 20,000 บาท และถ้าค่าความหอมอยู่ที่ 4 ppm.จะได้เพิ่มเป็นตันละ 25,000 บาท ความหอมสูงถึง 5 ppm. ราคาอยู่ที่ตันละ 30,000 บาท”
จากที่ทำมา...ชาวนาบางพื้นที่ทำความหอมได้ถึง 12 ppm. รับค่าข้าวเปลือกไปตันละ 50,000 บาท
กมลวิศว์ บอกว่า เมื่อรับซื้อข้าวเปลือกมาแล้ว จะส่งต่อให้เอกชนรับไปผลิตเป็นข้าวสาร และข้าวสุกพร้อมรับประทาน ตรา “ข้าวหอมยั่งยืน” ของ อ.ต.ก. ส่งขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ...จากการทดลองตลาดที่จีน ข้าวที่มีความหอมประมาณ 5-6 ppm. เมื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ขายได้ถึง กก.ละ 300 บาท หรือตันละ 300,000 บาท...ตอนนี้ อ.ต.ก.เตรียมเปิดตลาดใหม่ ที่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และ และสหรัฐอเมริกา
“บอกได้เลยว่าตลาดข้าวหอมมีเท่าไรต่างประเทศรับไม่อั้น ขอให้ทำได้หอมจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะหอมแบบพอดมได้ เขาจะรับซื้อ ที่จีนโดยเฉพาะฮ่องกงเขาซื้อให้ให้ราคากันแบบใช้เครื่องวัดความหอมกันเลย”
ผลดีอีกอย่างของการให้ราคาค่าข้าวตามค่าความหอม ผอ.กมลวิศว์ บอกว่า วิธีการนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้ชาวนาหันมาทำนาแบบประณีต และทำอย่างมีหลักวิชาการ ตามคำแนะนำมากขึ้น เพื่อข้าวจะได้มีคุณภาพ
จากเดิมมีชาวนาไม่กี่รายทำได้ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 300 รายแล้ว ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ขายได้ราคาตามค่าความหอม...วันทำนาแล้วรวยได้มาถึงซะที.
รายงานโดย...ไชยรัตน์ ส้มฉุน
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 2 พ.ค. 2561