ได้ฤกษ์เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูการผลิต 2561 หลัง “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ จ.ชัยนาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤาภาคม เป็นต้นไป โดยกรมชลประทานจะได้ส่งน้ำให้แก่เกษตรกรเพื่อทําการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากในเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ข้างเคียง
“ผลจากการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี เมื่อปี 2560 ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดความเสียหายในหลายๆ ด้าน จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าใจถึงความสําคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเร็วขึ้นนั้นจะช่วยลดผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วม ใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติในการเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ช่วยชะลอน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แล้วเกษตรกรยังจะมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพประมง ด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะใช้โมเดลดังกล่าวขยายผลไปดำเนินการในภาคอีสาน และภาคใต้ต่อไป” กฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ยังได้ถือโอกาสตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรประจำอำเภอ จำนวน 8 ศูนย์ ซึ่งตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านหนองตาดำ-โพธิ์เจริญ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายในชุมชน โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวคุณภาพดี ปัจจุบันมีสมาชิก 56 ราย พื้นที่ 1,379 ไร่ สินค้าหลัก ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวบริโภค โดยปัจจุบันผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2560/61 สมาชิกร้อยละ 70 สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 4,850 บาท/ไร่ เหลือ 3,952 บาท/ไร่ ลดลงเฉลี่ยไร่ละ 898 บาท (ร้อยละ 18.51)
ทั้งนี้ ผลจากการรวมกลุ่มผลิตเป็นแปลงใหญ่ จะทำให้กลุ่มเกษตรกรเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น การรับการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเป็นศูนย์ให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชน รวมถึงมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)อีกด้วย
ไม่เพียงการปล่อยน้ำสู่แปลงนาเร็วขึ้น 2 เดือนเท่านั้นเพื่อจะได้เก็บผลผลิตก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากช่วงสิงหาคม-กันยายน เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย แต่ทว่ารัฐบาลก็ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นรองรับหากชาวนาได้รับผลกระทบภัยธรรมชาติดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ตามที่ อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะปลูกข้าวหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร(ทบก.)กับกรมส่งเสริมการเกษตร ปีการผลิต 2561/62 ให้ได้รับการคุ้มครองและลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติ อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 29 ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป 1 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันในอัตรา 90 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่ กรณีเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 630 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแก่เกษตรกรในอัตรา 54 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 36 บาท/ไร่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มีความเข้าใจในเรื่องการทำประกันภัยและสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ธ.ก.ส.จึงพร้อมรับภาระจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในอัตรา 36 บาทต่อไร่สำหรับลูกค้าที่กู้เงินกับ ธ.ก.ส. ส่วนการประเมินความเสียหายเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกาศภัยของทางราชการ กรณีพื้นที่เอาประกันภัยเสียหายแต่ไม่อยู่ในเกณฑ์การประกาศภัยของทางราชการ มีคณะกรรมการประเมินความเสียหายรายแปลงเพื่อให้เกษตรกรที่ประสบความเสียหายได้รับประโยชน์จากการทำประกันภัยมากที่สุด
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ธ.ก.ส. call center 0-2555-0555 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายนนี้ ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรสามารถขอเอาประกันภัยได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย "ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ" เลขาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยก็ได้เตรียมความพร้อมและเริ่มเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ทันฤดูการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 22 บริษัท สามารถรับประกันภัยข้าวได้แล้ว
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะร่วมบูรณาการกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ ธ.ก.ส. ในการจัดโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี” ประจำปี 2561 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้จัดการสาขาและพนักงาน ธ.ก.ส. ประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อมวลชน เป็นต้น
และเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องการประกันภัยข้าวนาปี จึงได้เพิ่มกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมในโครงการดังกล่าว ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว และกำนันในพื้นที่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจด้านการประกันภัย รวมถึงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและสร้างแรงจูงใจให้แก่ชาวนาไทยให้เข้าสู่ระบบการบริหารความเสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง โดยประเดิมจัดครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 -30 เมษายน ต่อด้วย ลพบุรี กำแพงเพชร พะเยา ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชัยภูมิ กาญจนบุรี สุรินทร์ และพัทลุง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการดังกล่าว สำนักงาน คปภ.จึงได้เพิ่มกิจกรรมการลงพื้นที่ไปยังศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวในจังหวัด ตลอดจนพบปะกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ได้รับทราบสภาพทั่วไปของพื้นที่ และสภาพปัญหาของการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนวิธีการที่เกษตรกรใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อจะได้นำมาปรับปรุงโครงการประกันภัยข้าวนาปีให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ทุ่มงบ1.84พันล.ประกันภัยข้าวนาปี2561
หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงในประเด้นดังกล่าว โดยระบุว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี (โครงการฯ) ปีการผลิต 2561 เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2561 ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 โดยมีหลักการและรายละเอียดของการรับประกันภัย ดังนี้
1.พื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัย สูงสุดจำนวนไม่เกิน 30 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยจำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกราย ซึ่งประกอบด้วย ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจาก ธ.ก.ส. และลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่มีความประสงค์จะขอเอาประกันภัยเพิ่มเติม โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเองและพื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยจำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.
2.เงื่อนไขในการรับประกันภัยโดยผู้เอาประกันภัยคือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62 และรูปแบบการเอาประกันภัย แบ่งเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ดำเนินการในรูปแบบการประกันภัยกลุ่ม โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยและกลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ดำเนินการในรูปแบบการประกันภัยรายบุคคล
สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัย คิดอัตรา 90 บาทต่อไร่ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) หรือคิดเป็นอัตรา 97.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ซึ่งเป็นอัตราเดียวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่วงเงินความคุ้มครอง โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีการผลิต 2561 จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
ในขณะที่การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล สำหรับโครงการปีการผลิต 2561 รัฐบาลยังคงอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกรายในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และ ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกส่วนที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
ส่วนงบประมาณ การดำเนินโครงการปีการผลิต 2561 กระทรวงการคลังประเมินในเบื้องต้นว่า จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงอนุมัติวงเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับพื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยที่จำนวนสูงสุด 30 ล้านไร่ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,841,100,000 บาท
เปิดแผนการผลิตข้าว ปี 2561/62
ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ณ กรมการข้าว ว่า จากมติที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีการเห็นชอบกรอบเป้าหมายความต้องการใช้ข้าว สำหรับการผลิต ปี 2561/62 ภายใต้ตลาดนำการผลิต (Demand Driven) จำนวน 30.42 ล้านตันข้าวเปลือก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้กำหนดแผนการผลิตข้าว ปี 2561/62 ตามความต้องการใช้ข้าวดังกล่าว จำนวน 70.42 ล้านไร่ ผลผลิต 33.422 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น รอบที่ 1 จำนวน 58.21 ล้านไร่ ผลผลิต 25.336 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 จำนวน 12.20 ล้านไร่ ผลผลิต 8.084 ล้านตันข้าวเปลือก
ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 1 จำนวน 58.21 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 23.27 ล้านไร่ ข้าวหอมจังหวัด 2.82 ล้านไร่ ข้าวหอมไทย (ข้าวหอมปทุม) 1.03 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 14.84 ล้านไร่ (ข้าวเจ้าพื้นนิ่ม 0.74 ล้านไร่ ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 14.10 ล้านไร่) ข้าวเหนียว 15.78 ล้านไร่ ข้าว กข43 0.12 ล้านไร่ ข้าวอินทรีย์ 0.28 ล้านไร่ และข้าวสี 0.07 ล้านไร่ โดยได้มอบหมายกรมการข้าวจัดทำข้อมูลพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 1 เป็นรายชนิดข้าวและรายอำเภอ เพื่อออกประกาศให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2561
ลักษณ์เผยต่อว่าสำหรับผลการดำเนินงานภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่ปลูกข้าว รอบที่ 1 จำนวน 57.18 ล้านไร่ ผลผลิต 22.65 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 มีพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 12.61 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 7.86 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ การตลาดข้าว ในปี 2560 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ปริมาณ 11.63 ล้านตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 มีนาคม 2561 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 2 ของโลก จำนวน 1.84 ล้านตัน รองจากประเทศอินเดีย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.