กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมรับการปฏิรูปภาคการเกษตรสู่ยุคเกษตร 4.0 ปรับลุคองค์กรสู่ความทันสมัยรอบด้านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ด้วยการทำผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล พร้อมรุกสำรวจทำข้อมูลทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการรับขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกพืชและทำการเกษตร ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อทราบสถานการณ์การเพาะปลูกของเกษตรกรรวมทั้งประมาณการผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาพบปัญหาการแจ้งการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่ตรงกับพื้นที่ปลูกที่แท้จริง จึงได้ปรับปรุงวิธีการขึ้นทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรและการตรวจสอบพื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือกับ NECTEC ออกแบบนวัตกรรมการขึ้นทะเบียนพร้อมกับการตรวจสอบวาดแผนผังแปลงผ่านเครื่องมือสื่อสารไร้สาย (Tablet: FARRMis Application) และความร่วมมือกับ GISTDA ในการดึงภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมมาค้นหาพิกัดและวาดผังแปลงโดยโปรแกรม GISagro กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำระบบรวมและแสดงข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล เพื่อรองรับผู้ขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งการวาดแปลงนี้จะทำให้สามารถตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรได้ สำหรับการกำหนดเป้าหมายพื้นที่การวาดแปลงใช้ระบบดิจิทัลไว้ จำนวน 13 ล้านแปลงทั่วประเทศ จากการประเมินค่าเฉลี่ยของแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร พบว่า เกษตรกร 1 ราย มีแปลงเพาะปลูกประมาณ 2 แปลง ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการไปแล้วกว่า88.97% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2561) คิดเป็นจำนวน 11,566,266 แปลงของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ทั้งนี้ในรายละเอียดในการดำเนินงานดังกล่าวนั้น จะมีการเปรียบเทียบพื้นที่ที่คำนวณได้จาก แอปพลิเคชั่น FAARMis กับการใช้เครื่อง GPS เดินรอบแปลง ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนพืชในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งพื้นราบและพื้นที่มีความลาดชันสูง แนวทางการวาดแปลงโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่เป็นปัจจุบันร่วมกับการใช้เครื่อง GPS วัดพิกัดที่ตั้งแปลงซึ่งจะทำให้เกษตรกรเป็นผู้วัดพิกัดแปลงมาร่วมชี้จุดที่ตั้งแปลงกับเจ้าหน้าที่ร่วมกัน
นางดาเรศร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประโยชน์ของการจัดทำระบบวาดแปลงนี้ ให้สามารถเชื่อมโยงกับแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และสามารถตรวจสอบพื้นที่จริงเบื้องต้นได้ทำให้สามารถตรวจสอบผังแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรกับข้อมูลความเหมาะสมของการปลูกพืชเศรษฐกิจ (zoning) รวมทั้งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปส่งเสริมหรือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมทดแทนในพื้นที่ของเกษตรกรได้โดยตรงตามนโยบาย Zoning by Agri-Map รวมทั้งแสดงเนื้อที่เพาะปลูกพืชของประเทศไทยตามการขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้อย่างแม่นยำรวมทั้งติดตามเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการสำคัญๆ ต่างได้
อย่างไรก็ตามการพัฒนาด้านนวัตกรรมจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ข้อมูลสถานีตรวจวัดอากาศ ข้อมูลดาวเทียม และระบบเซ็นเซอร์ด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตรวจสอบติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกตลอดฤดูกาลผลิต และการเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีต่อไป ทั้งนี้การพัฒนานวัตกรรมยังคงไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและนำไปใช้ประโยชน์และยังสามารถช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานขึ้นทะเบียนเกษตรกรของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ถ้าหากข้อมูลพื้นที่และขอบเขตแปลงเมื่อจัดเก็บไว้ในระบบครบแล้ว การตรวจสอบการเพาะปลูกของเกษตรกรจะทำได้โดยใช้เทคโนโลยีตรวจจากภาพถ่ายดาวเทียมไม่จำเป็นต้องให้เกษตรกรมาแจ้งทุกครั้ง เป็นการลดขั้นตอนการทำงานและลดรายจ่ายในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา : ผู้จัดการ วันที่ 29 เม.ย. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.