ชาวนาที่มหาสารคาม ทำนาเจอปัญหาข้าวราคาถูก ติดต่อ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รับออเดอร์ผลิตสมุนไพร ทำแบบผสมผสาน สร้างเครือข่ายมีรายได้ปีละกว่า 30ล้าน
วันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางสาวกุหลาบ ตันเล เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรบ้านเลขที่ 133 หมู่ 1 บ้านหัวดง ต.หัวดง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ว่า เดิมมีอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก แต่มักจะประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงมองหาทางเลือกใหม่การเกษตรแบบผสมผสานและปลูกพืชสมุนไพร เริ่มจากปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมส่งให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากมีความสนใจที่จะปลูกสมุนไพรจึงได้ไปสอบถามทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผลิตยาสมุนไพรควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน จนมีการตกลงระหว่างกันว่าจะเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรเพื่อป้อนให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร
“วัตถุดิบที่ป้อนให้กับโรงพยาบาล เป็นสมุนไพรที่ต้องการมาก ได้แก่ บัวบก มะระขี้นก ขมิ้นชัน และ พรมมิ เริ่มทำสวนสมุนไพรเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 15 ไร่ โดยการขุดเจาะบ่อบาดาล 2 บ่อ และบ่อน้ำผิวดินอีก 1 บ่อ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ แค่ผลผลิตในพื้นที่ 15 ไร่ ยังไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างเครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพรแทบทุกพื้นที่ เน้นการปลูกสมุนไพรเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งที่แปลงสมุนไพรของชาวบ้านในเครือข่ายบ้านหัวดงมีทั้งหมด 33 ราย ได้รับมาตรฐานรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ และมีการตรวจประเมินเกษตรอินทรีย์ทุกปี เน้นในเรื่องของความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้สารเคมี และทำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลักษณะแปลงปลูกเป็นการปลูกป่า 3 ระดับ ประกอบด้วย ไม้สูง ไม้กลาง และไม้ล่าง เป็นการจัดการแปลงปลูกแบบองค์รวม เลียนแบบธรรมชาติ และมีโรงอบที่ได้มาตรฐาน"
ทั้งนี้ ในการผลิตแต่ละครั้งจำนวนจะขึ้นอยู่กับออเดอร์ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการวางแผนส่งขายสมุนไพรแต่ละชนิดภายในสมาชิกด้วยกัน โดยการแบ่งกันปลูกและส่งขายตามจำนวนสมาชิก เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล เป็นวิธีการช่วยเหลือและแบ่งปันรายได้กันอย่างทั่วถึง แต่ละปีจะมีรายได้กว่า 30 ล้านบาท.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 29 มี.ค. 2561