นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาดข้าวไทย” ในงานประชุมวิชาการ กรมการข้าว ประจำปี 2561 ที่โรงแรมมารวย การ์เดนว่า ขณะนี้พื้นที่ในการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งมีหลายบริเวณที่ไม่เหมาะสมกับการปลูก ประกอบกับความไม่พิถีพิถันของผู้ปลูก ทำให้ข้าวคุณภาพต่ำลง รวมถึงการบริหารจัดการที่ทำให้ชาวนาไม่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งชาวนาประมาณ 90% ยังขายผลผลิตเป็นข้าวเปลือก ไม่สามารถเข้าถึงระบบการแปรรูป หรือการตลาดที่เหมาะสม ทำให้ยังเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่
นายลักษณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ผลักดันนโยบายในการลดต้นทุนการผลิตข้าว และส่งเสริมให้ข้าวมีคุณภาพ อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ ให้มีการใช้เครื่องจักรเกษตรร่วมกัน รวมถึงที่ผ่านมาได้ผลักดันองค์ความรู้ในการเพาะเชื้อราขาวและเชื้อราเขียวไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยลดแมลงและโรคที่เกิดในข้าว ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดี เห็นได้ว่าการมอบองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ดูแลตนเองได้เป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้จ่ายซื้อปัจจัยภายนอก แต่ใช้องค์ความรู้และรวมตัวกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงกรมการข้าวมีศูนย์ข้าวชุมชนที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพจำหน่าย ส่งผลให้มาตรฐานข้าวมีความยั่งยืน ทั้งนี้อยากผลักดันให้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นต้นแบบแก่ศูนย์พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่อไป
นายลักษณ์กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน กรมชลประทานจะวางระบบการจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้น้ำไหลลงไปสู่ทุกแปลงของเกษตรกร จะช่วยผลักดันให้สามารถผลิตข้าวได้ 1,200 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ จากเดิมที่ 800 กก.ต่อไร่ จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้แก่เกษตรกรได้
“ขอฝากให้กรมการข้าวร่วมกันผลักดันองค์ความรูh นอกจากความรู้ในระบบการผลิตแล้ว ต้องทำให้เกษตรกรสามารถแปรรูป จนไปถึงการทำการตลาด ทำให้ทั้งวงจรอยู่ในความดูแลของเกษตรกรเองได้ ทั้งนี้จะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มศักยภาพให้ชาวนาอย่างยั่งยืน” นายลักษณ์กล่าว
ที่มา : มติชน วันที่ 14 มี.ค. 2561