ปลายปี 2559 มีประกาศจากภาครัฐ...ปี 2560 ปริมาณน้ำมีน้อย ควรงดทำนาปรัง เกษตรกรรายไหนที่ยังฝืนทำนา อาจเสี่ยงกล้าข้าวยืนต้นตาย ส่วนคนที่ต้องการงดทำนาปรัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบช่วยเหลือสำหรับเป็นค่าการจัดการค่าเมล็ดพันธุ์ ให้ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่
ได้ยินคำเตือนจากภาครัฐ หลังปรึกษากับภรรยา นายบุญสม ฉายวิโรจน์ ชาวนา ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
เพราะประสบการณ์ทำนา 10 ไร่ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนมาตลอด นอกจากข้าวราคาถูกลง ค่าจัดการยังสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงนาปรัง ต้องสูบน้ำเข้านามาหล่อเลี้ยงต้นกล้า ยิ่งทำนาหนี้เริ่มพอกพูน...ไหนๆภาครัฐมีงบสนับสนุน จึงคิดปรับพื้นที่เปลี่ยนมาปลูกพืชผักอายุสั้น ตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร
“เลือกปลูกพืชผักชนิดที่ตลาดมีความต้องการ เพื่อจะได้ขายง่าย และไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกล เลือกปลูกข้าวโพดหวาน และแตงกวา เพราะใช้น้ำน้อยและเก็บผลผลิตขายได้ไว”
แต่เพื่อให้มีเงินรายวันเข้ากระเป๋าและมีเงินก้อน บุญสม แบ่งพื้นที่ออก เป็น 3 ส่วน แปลงแรก 4 ไร่ ปลูกพืชปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเตรียมรอปลูกข้าวนาปี
ส่วนที่ 2 แบ่งเป็น 2 แปลง ปรับสภาพดินเตรียมแปลงพร้อมปลูกแตงกวา 1 ไร่ และรอไว้ปลูกรอบ 2 อีก 1 ไร่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อไวรัสแฝงในหน้าดิน...หลัง 40 วันผ่านไป ผลผลิตแตงกวา 1 ไร่ รอบแรก หลังหักต้นทุน มีกำไรเหลือ 10,000 บาท
พื้นที่เหลือ 4 ไร่...ปลูกข้าวโพดหวาน ส่วนนี้จะเป็นเงินก้อน ไม่เหมือนกับปลูกแตงกวาที่เป็นเงินรายวันเข้ากระเป๋า ปลูกข้าวโพด 65 วัน เก็บฝักขาย ครั้งแรกส่งขายแม่ค้าในตลาด ถูกกดราคาได้ กก.ละ 5-6 บาท
หลังปรึกษากับภรรยาได้ข้อสรุป ปลูกแล้วต้มขายเองในตลาดนัดหมู่บ้าน ฝักเล็ก 4 ฝัก 20 บาท ถ้าฝักใหญ่ 3 ฝัก 20 บาท....ปลูก-ขายเอง กำไรดีกว่า
ตลอดปี 2560 บุญสมมีรายได้จากการปลูกข้าวโพด 5 รอบ หักต้นทุนพื้นที่ 4 ไร่ ทำรายได้ 90,000 บาท รวมกับปลูกแตงกวาอีกกว่า 45,000 บาท
ดีกว่าทำนา 10 ไร่ หักต้นทุนแล้วเหลือเงินแค่ 60,000 บาท.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 7 มี.ค. 2561