นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 1.สร้างความรู้ ตลอดห่วงโซ่สินค้า ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ การเพิ่มมูลค่าสินค้า คุณภาพสินค้าต้องให้เป็นที่ยอมรับในการบริโภค การซื้อขาย 2.การรับรองมาตรฐานของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ เช่น มาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements-IFOAM) ระบบรับรองมาตรฐานและส่งเสริมกระบวนการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (participatory guarantee system : PGS) ซึ่งเป็นระบบ “ชุมชนรับรอง” เป็นการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง และมาตรฐานอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในการเข้ามารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3.การเชื่อมโยงตลาดในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตได้จะสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางที่ดำเนินการให้ เช่น โมเดิร์นเทรด ฟาร์มเอาต์เลต (farm outlet) เป็นต้น และ 4.สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย นอกจากจะขายเป็นเพียงสินค้าผัก ผลไม้ เพิ่มมูลค่าโดยพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง
ต้องยอมรับว่าตลาดโลกนั้นมีความต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดสารเคมีมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความใส่ใจเรื่องของสุขภาพและคุณภาพของอาหารที่จะเข้าสู่ร่างกาย และมูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกนั้น มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุด คือ ตลาดสหรัฐ มีสัดส่วน 50% รองลงมาเป็นตลาดยุโรป ซึ่งฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นประเทศที่มีการบริโภคมากสุดในตลาดยุโรป
โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าหลังจากดำเนินการตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แล้ว ทั้งสองหน่วยงานวางเป้าหมายว่าจะปรับสัดส่วนการทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% และลดสัดส่วนตลาดต่างประเทศจาก 70% เหลือ 60% โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนขยายช่องทางในการทำตลาด เชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขาย เข้าถึงกันให้มากขึ้น
ในภาคการผลิตได้วางเป้าหมายเพิ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3 เท่าตัว หรือ 30,000 รายจากปัจจุบัน 10,000 ราย และเพิ่มพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์อีก 1 เท่าตัวจาก 300,000 เป็น 600,000 ไร่ทั่วประเทศ เนื่องจากยังเห็นโอกาสทางการค้าที่จะเติบโตในอนาคต ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้เพิ่มขึ้น
สำหรับคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของตลาดเกษตรอินทรีย์ในปี 2561 คาดว่าะขยายตัว 20-50% จากปีที่ผ่านมา โดยกรมฯ ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดคัดเลือกจังหวัดที่เหมาะสมเพื่อเข้าร่วม “โครงการจังหวัดเกษตรอินทรีย์”
โดยจังหวัดนั้นจะต้องเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรที่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่ม/สหกรณ์ และต้องมีพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ที่เพาะปลูก ซึ่งเบื้องต้นทางพาณิชย์จังหวัดเสนอรายชื่อจังหวัดจันทบุรี กระบี่ สตูล ชลบุรี (จากปีก่อนที่มีจังหวัดชัยภูมิ นครพนม นครปฐม ฉะเชิงเทรา ยโสธร)
สำหรับจังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาส่งเสริมทุกด้าน จะสนับสนุนการจดทะเบียนรับรองมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในต่างประเทศด้วย เพื่อให้สามารถทำตลาดการค้า การส่งออกได้นอกจากนี้ กรมจะขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้ารูปแบบ “ฟาร์มเอาต์เลต”ให้ครบเป้าหมาย 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า
สำหรับแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปีนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กรมฯ เตรียมจัดงานประกวดสินค้าที่ทำจากเกษตรอินทรีย์ จากนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม จะร่วมมือกับผู้จัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเยอรมนี จัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ขึ้นที่ไทยเป็นครั้งแรก เพื่อจัดกิจกรรมเจรจาซื้อขาย เพื่อโปรโมตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ก.พ. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.